บลจ.วรรณ ขายไอพีโอ ONE-TCMSSF-SSFX ถึง 21 เม.ย.นี้

07 เม.ย. 2563 | 12:08 น.

บลจ.วรรณ เดินหน้าสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือตลาดทุน เปิดขายไอพีโอ กองทุนเปิด วรรณ สนับสนุนตลาดทุนไทย เพื่อการออม หน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออมพิเศษ (ONE-TCMSSF-SSFX) วันนี้ ถึง 21 เม.ย.นี้ เน้นลงทุนหุ้นไทยและบริหารเชิงรุก

นายพจน์  หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้เปิดเสนอขายครั้งแรก(ไอพีโอ)กองทุนเปิด วรรณ สนับสนุนตลาดทุนไทย เพื่อการออม หน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออมพิเศษ (ONE-TCMSSF-SSFX) วันนี้ ถึง 21 เม.ย.นี้ โดยมีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ไม่น้อยกว่า 65% สำหรับเกณฑ์ลดหย่อนไม่อ้างอิงรายได้และสูงสุดไม่เกิน 2แสนบาทต่อปี โดยไม่ต้องรวมกับกองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญและกองทุนเกษียณอื่นๆ

 

 บลจ.วรรณ ขายไอพีโอ ONE-TCMSSF-SSFX ถึง 21 เม.ย.นี้

 

“การเสนอขายกองทุนนี้ เป็นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้น นโยบายลงทุนจะมีความยืดหยุ่น โดยกองทุนสามารถถปรับสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ระหว่าง 80-100% เพื่อให้มีความเหมาะสมกับภาวะตลาดในแต่ละช่วง และจะเน้นลงทุนในหุ้นไทยขนาดใหญ่และขนาดกลางซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว และมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และอาจมีการลงทุนในหุ้นไทยขนาดเล็กเพื่อผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น โดยจะเน้นบริหารจัดการเชิงรุก (Active Management) กระจายการลงทุน 20-40 หลักทรัพย์ โดยกองทุน ONE-TCMSSF-SSFX จะเสนอขายช่วงหลัง IPO ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.-30 มิ.ย. 63”นายพจน์กล่าว

นายพจน์กล่าวว่า ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยปรับลงมามาก ถือเป็นจังหวะที่ทยอยเข้าสะสมได้ โดยหากพิจารณาในเชิงของ Valuation ของ SET น่าสนใจ ที่ระดับ PE ประมาณ 13 เท่า และอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 4% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจโลกและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง จากผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19 ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงมีมาตรการทางการคลังออกมาต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยจำกัด Downside ของตลาดได้อีกทางหนึ่ง และคาดว่า ภาครัฐจะมีการเร่งรัดและเปิดประมูลมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ หากสถานการณ์ไวรัสสามารถควบคุมได้

ทั้งนี้บลจ.วรรณ คาดการณ์เป้าหมายดัชนีปีนี้ในกรอบ 1,130-1,280 จุด โดยกรอบบนคาดการณ์บนสมมุติฐานการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ระบาดทั่วโลก ถูกควบคุมได้ภายในเดือน พ.ค.กิจกรรมการผลิตของจีนทยอยกลับสู่ภาวะปกติในไตรมาส 2 ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ยังให้น้ำหนักเกี่ยวกับปัจจัยอัตราดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.5% ช่วงครึ่งปีแรก ควบคู่กับมาตรการทางการคลังเพื่อเยียวยาและสนับสนุน ด้านกรอบล่าง คาดการณ์บนสมมุติฐาน ปัจจัยต่างประเทศ ยังคงเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคในบางประเทศสำคัญ ราคาน้ำมันไร้เสถียรภาพ ด้านปัจจัยในประเทศ ภาคการท่องเที่ยวซบเซาต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีหลัง ภัยแล้งกระทบรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตร และความไม่สงบทางการเมืองเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมของรัฐบาล อย่างไรก็ดีในส่วนกลยุทธ์การลงทุนของเดือนนี้ มีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มอาหาร