เอกชนเด้งรับมาตรการกู้ศก. 1.9 ล้านล้าน แนะรีบลงระบบ-ป้องกันรั่วไหล

07 เม.ย. 2563 | 11:45 น.

เอกชนแห่เด้งรับมาตรการรัฐออกพรก.กู้เงินเยียวยาผู้กระทบจากโควิด-19และฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ ประสานเสียงแนะเงินต้องรีบลงระบบและป้องกันการรั่วไหลให้ดี

หลังจากที่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันนี้(7เม.ย.) เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทที่ลงมากระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

 

“ฐานเศรษฐกิจ”ประมวลความเห็นจากภาคเอกชนส่วนใหญ่แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเห็นด้วยกับมาตรการที่ออกมา และเชื่อว่าในเบื้องต้นเม็ดเงินดังกล่าวจะเพียงพอและมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งนำเงินลงระบบและรีบอุดช่องโหว่ที่จะทำให้เงินรั่วไหลได้

 

นายกลินท์  สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลได้อัดฉีดแพ็กเกจช่วยเหลือภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาทในครั้งนี้ เพราะถือมีความจำเป็นเพื่อประคองให้ทุกฝ่ายอยู่รอด  แต่ที่เป็นห่วงคือในทางปฏิบัติเม็ดเงินจะกระจายได้อย่างทั่วถึงมากน้อยแค่ไหน

 

 ในส่วนของหอการค้าไทยได้ให้สมาชิกทั่วประเทศสะท้อนข้อเท็จจริงกลับมาว่าได้รับการช่วยเหลือจริงมากน้อยเพียงใด หรือมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างไร

 

เอกชนเด้งรับมาตรการกู้ศก. 1.9 ล้านล้าน แนะรีบลงระบบ-ป้องกันรั่วไหล

 

ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างกรณีที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเร่งดำเนินการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินโครงการรวม 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 1.35 แสนล้านบาท และให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อโดยตรงในวงเงินอีก 1.5 หมื่นล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ในข้อเท็จจริงผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงมาตรการดังกล่าวได้จริงมากน้อยเพียงใด เพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรค เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี

 

“ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ที่ยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และยังไม่มีการเลิกจ้างคนงานหรือพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่พยายามประคองตัวเองให้อยู่รอดนานที่สุด ตรงนี้เราก็ดูอยู่ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรมาช่วยเพราะก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน”

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทที่ออกมานั้นถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสมในการแก้ปัญหามีวงเงินขนาดเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ได้  จากเดิมที่คิดว่าวงเงินจะน้อยกว่านี้

 

“เราได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 หนักมากทั้งโลก เดิมเรามีเครื่องจักรตัวหลัก 2 ตัวคือ ส่งออกกับท่องเที่ยว ทั้ง 2 ตัวกระทบ ภาคท่องเที่ยวมีคลัสเตอร์จำนวนมากมีแรงงานในระบบ 3-4 ล้านคน ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 60-70% ของจีดีพีประเทศ ตอนนี้วงจรการค้าหยุดเพราะกว่า 200 ประเทศก็เผชิญปัญหา”

 

เอกชนเด้งรับมาตรการกู้ศก. 1.9 ล้านล้าน แนะรีบลงระบบ-ป้องกันรั่วไหล

 

สำหรับสิ่งที่อยากจะฝากรัฐบาลคือต้องเบิกจ่ายงบอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว ห่วงการทำงานของราชการที่หลายครั้งเงินอนุมัติแล้วแต่การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าและต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างให้เงินรั่วไหล

 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่ามาตรการจากภาครัฐที่ออกมาวันนี้ (7เม.ย.63) เป็นมาตรการที่ดีทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการเดินหน้าแก้ปัญหาของรัฐบาล วันนี้ต้องยอมรับว่าสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมันหายไป ตอนนี้เราได้ขวัญและกำลังใจมาแล้ว ขอให้กระบวนการเบิกจ่ายไม่ยุ่งยาก เพื่อจะได้เดินไปสู่ระบบได้เร็วขึ้น ถ้าเงินออกมาไม่ทัน ใช้วิธีเข้าระบบแบบจัดซื้อจัดจ้างแบบปกติจะต้องใช้เวลานาน 2-3 เดือนจะไม่ทันการในการแก้ปัญหานี้ ดังนั้นเงินจะต้องลงถึงระบบให้เร็วที่สุด

 

เอกชนเด้งรับมาตรการกู้ศก. 1.9 ล้านล้าน แนะรีบลงระบบ-ป้องกันรั่วไหล

 

ด้านนางสาวกัณญภัค  ตันติพิพัฒน์พงศ์  ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า  การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ออกพระราชกำหนด(พรก.)กู้เงิน เพื่อใช้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19,พรก.จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้, พรก.ช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบโควิดเพิ่มเติมให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงสำนักงบประมาณเสนอปรับลดงบประมาณรายจ่ายของแต่ละกระทรวงลง 10% รวมวงเงินกว่า 1.96-1.97 ล้านบ้านบาทนั้น ส่วนตัวไม่คัดค้านและเห็นว่าเป็นประโยชน์ในยามวิกฤติ

 

 

เอกชนเด้งรับมาตรการกู้ศก. 1.9 ล้านล้าน แนะรีบลงระบบ-ป้องกันรั่วไหล

 

แต่ที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการคือ เมื่อออก พ.ร.ก. หรือมีเม็ดเงินแล้ว ควรเร่งให้ความช่วยเหลือให้เงินถึงมือทุกภาคส่วนโดยเร็ว เฉพาะอย่างยิ่งภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง(เรียลเซ็คเตอร์)ที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มการจับจ่ายใช้สอย และเพิ่มการบริโภคให้กับประเทศอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก ภาคบริการ โลจิสติกส์ และอื่น ๆ จากที่ผ่านมาภาคเรียลเซ็กเตอร์ข้างต้นรัฐบาลมีแต่มาตรการช่วยเหลือ แต่ส่วนใหญ่เม็ดเงินยังไม่ตกถึงมือผู้ประกอบการเลย

 

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 1.9 ล้านล้านบาทนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และต้องเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องสอดคล้องกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่ลดลงด้วย เพราะหากทั้ง 2 อย่างเดินคู่กันไปก็จะทำให้ประชาชนไม่ติดขัด เช่นเดียวกับภาคเอกชนก็เกิดความเชื่อมั่นใจการเดินหน้าธุรกิจ

 

"สำคัญที่สุดในตอนนี้คือตัวเลขของผู้ติดเชื้อ เพราะหากมีอัตราที่ลดลง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น และภาคธุรกิจมีกำลังใจกล้าที่จะวางแผน ขณะที่การช่วยเหลือจากภาครัฐ ก็ต้องให้ถึงมือประชาชนอย่างเร็วที่สุด เพราะตอนนี้ทุกคนปฏิบัติตามที่รัฐฯขอความร่วมมือ "อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ"แต่หากเงินเยียวยาถึงมือช้า ก็อาจจะทำให้ประชาชนบางส่วนต้องออกมาทำงาน เพื่อหาเงิน จึงอยากขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือกันทุกฝ่าย"

 

เอกชนเด้งรับมาตรการกู้ศก. 1.9 ล้านล้าน แนะรีบลงระบบ-ป้องกันรั่วไหล

 

ส่วนการปรับแผนงานของบริษัทฯรถยนต์ในตอนนี้ ส่วนใหญ่จะเลิกผลิตชั่วคราว โดยซูซูกิ ได้ปิดโรงงานเมื่อวันที่  6- 28 เมษายน 2563 เนื่องจากชิ้นส่วนบางอย่างไม่มี ประกอบกับต้องการตอบสนองนโยบายรัฐในการหยุดเชื้อเพื่อชาติ ขณะที่แผนงานร่วมกับผู้แทนจำหน่าย ได้ปรับเป้าการจำหน่ายในเดือนนี้ลดลงครึ่งหนึ่ง และจะประเมินสถานการณ์เดือนต่อเดือน อย่างไรก็ตามเป้าหมายทั้งปีของทั้งบริษัทฯยังไม่มีการปรับแต่อย่างใด เพราะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์จะจบเมื่อไร

 

ขณะที่นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า มาตรการกู้เศรษฐกิจที่รัฐบาลทำขึ้นครั้งนี้จะส่งผลต่อลูกค้าหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิดดีขึ้น ในรายที่ได้รับผลกระทบไม่แรงก็อาจจะสามารถฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ดีภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้คงติดลบแน่นอน แต่มาตรการที่ออกมาอาจจะช่วยเศรษฐกิจติดลบไม่รุนแรงก็ได้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงคลื่นลูกแรกที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ  

 

เอกชนเด้งรับมาตรการกู้ศก. 1.9 ล้านล้าน แนะรีบลงระบบ-ป้องกันรั่วไหล

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผูกติดกับการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ลูกค้าได้รับผลกระทบเช่นกัน ถ้าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบลดน้อยลง ก็จะช่วยธุรกิจอสังหาฯได้มากขึ้น