ฟิทช์ เรตติ้งส์ หั่นเครดิต 3 แบงก์ใหญ่ BBL-KBANK-SCB

07 เม.ย. 2563 | 02:24 น.

"ฟิทช์ เรทติ้งส์" หั่นเครดิต 3 แบงก์ใหญ่  กรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ สู่ระดับ  BBB จาก BBB+ เซ่นพิษโควิด-19 จากผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ฉุดรายได้แบงก์คาดลากยาว 2 ปี  กดคุณภาพสินเชื่อแย่ลง  แต่คงอันดับเครดิต "แบงก์กรุงไทย"

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL สู่ระดับ  ‘BBB’ จาก ‘BBB+’  และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

 

ขณะเดียวกันฟิทช์ฯ ได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และปรับลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ  เป็น ‘BB+ ‘ จาก ‘BBB’ และยกเลิกสถานะ “อยู่ระหว่างสังเกตการณ์ผลกระทบจากการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต” (Under Criteria Observation)

 

โดยเหตุผลที่ฟิทช์ ฯ ปรับลดอันดับเครดิตของ BBL สะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปในวงกว้าง  BBL อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562 โดยนอกจากระดับค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว รายได้ของธนาคารก็อาจจะปรับตัวลดลงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำรวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว

 

อีกทั้งฐานะเงินกองทุนที่จะอ่อนแอลงจากการเข้าซื้อกิจการธนาคาร PT Bank Permata Tbk (Permata: AAA(idn)/เครดิจพินิจเป็นลบ) ในประเทศอินโดนีเซีย อาจทำให้ BBL ต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของกำไรที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี BBL ยังมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านธุรกิจรายใหญ่และกิจการธนาคารต่างประเทศ

 

เช่นเดียวกับ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK ) ฟิทช์ เรทติ้งส์  ได้ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency IDR) ของ KBANK เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ธนาคารกำลังเผชิญและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่กระจายเป็นวงกว้าง


 

นอกจากนี้ยังได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign-Currency IDR) เป็น ‘F3’ จาก ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) เป็น ‘bbb’ จาก ‘bbb+’ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินต่างประเทศที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซิล 3 เป็น ‘BB+’ จาก ‘BBB’ และยกเลิกสถานะอันดับเครดิตที่เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ระหว่างการทบทวนที่เกิดจากการประกาศใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตฉบับใหม่ (Under Criteria Observation) และยังคงอันดับเครดิตในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AA+(tha)’

 

โดยฟิทช์ฯ ให้มุมมอง KBANK ไม่ต่างกับ BBL ถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อาจได้รับผลกระทบมากในช่วงระยะเวลา2 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ KBank มีฐานลูกค้าค่อนข้างมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นซึ่งจะทำให้มีแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารในช่วงเวลาปัจจุบันของวัฏจักรธุรกิจและจะทำให้มีแรงกดดันเพิ่มเติมต่อผลกำไรจากการดำเนินงานของธนาคาร  ซึ่งในปัจจุบันระดับผลกำไรดังกล่าวอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite)

 

แต่หากพิจารณาถึงความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในฐานะหนึ่งในธนาคารชั้นนำของอุตสาหกรรมธนาคารไทยโดยธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากฐานธุรกิจที่มีเสถียรภาพและมีขนาดใหญ่โดยมีจุดแข็งในด้านบริการธนาคารดิจิทัลและการให้บริการด้านธุรกรรมธนาคาร (Transactional banking)

 

อีกทั้งธนาคารมีบริการด้านการธนาคารที่ครบวงจรรวมถึงมีการให้บริการลูกค้าในหลากหลายกลุ่มลูกค้า รวมถึงมีโครงสร้างเครดิตที่ดีกว่าและมีความสามารถในการรองรับผลกระทบเชิงลบที่มากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเชิงลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารในช่วงระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า

 

ขณะเดียวกันฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ลงเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign Currency IDR) พร้อมคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว  ที่ ‘AA+(tha)’ จากผลกระทบรุนแรงของไวรัส โควิด-19


โดยฟิทช์ฯ ยังคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SCB ที่ ‘AA(tha)’ โดยทั้ง SCB และ SCBS มีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

 

การปรับลดอันดับเครดิตของ SCB เนื่องจากการระบาดไวรัสของโควิด-19 อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562  กระจายไปในวงกว้าง  และสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ซึ่ง SCB อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับ BBL - KBANK  

 

อย่างไรก็ตาม SCB มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงเป็น 1 ใน 3 อันดับในด้านขนาดสินทรัพย์และเงินฝากที่ประมาณ 14%-15% ในปี 2562 และมีลูกค้ารายย่อย - สินเชื่อที่อยู่อาศัย - เครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ฟิทช์มองว่า ณ ระดับความแข็งแกร่งทางการเงินปัจจุบัน ธนาคารน่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการถูกปรับลดอันดับลงเพิ่มเติมได้ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่า SCB มีความสามารถในการรองรับผลกระทบเชิงลบที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า

 

สำหรับธนาคารกรุงไทย หรือ KTB นั้น  ฟิทช์ ฯ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ที่ ‘BBB’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’  พร้อมทั้งได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบล. กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด หรือ KTZ ที่ ‘A+(tha)’ ทั้ง KTB และ KTZ มีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

 

โดยเหตุผล จากเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทยและฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะในกลุ่มรัฐวิสาหกิจและข้าราชการ โดยความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐเป็นยปัจจัยช่วยให้ธนาคารรักษาความสามารถในการระดมทุน (funding) ให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพและรักษาความสามารถในการแข่งขัน 

 

ฐานะเงินกองทุนของ KTB ปรับตัวดีขึ้นมาในระดับใกล้เคียงกับกลุ่มธนาคารในต่างประเทศที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคล้ายกัน และช่วยลดลความเสี่ยงได้บ้าง ณ ระดับเครดิตปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนที่เป็นของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Core Equity Tier 1) ที่ 15.2% ณ สิ้นปี 2562 ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 16% อีกทั้งฟิทช์ ฯ ยังมองว่า KTB มีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นในประเทศ เนื่องจากธนาคารมีการให้การสนับสนุนโครงการของรัฐบาลบ้าง