"แบงก์" เริ่มได้รับผลกระทบจากโควิดแต่สถานะยังแกร่งกว่าปี 40

06 เม.ย. 2563 | 09:44 น.

SCBS  ชี้โควิด -19 เรื่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการกลุ่มแบงก์ไตรมาส 1/63 คาดกำไรสุทธิหดตัว 17% และทั้งปีจะหดตัว 27% แต่สถานะงบดุลแข็งแกร่งกว่าวิกฤติเมื่อปี 40 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS ) ระบุในบทวิเคราะห์  คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ของกลุ่มธนาคารจะแสดงสัญญาณเริ่มแรกของผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 โดยผลการดําเนินงานจะอ่อนแอลงในทุกๆ ด้าน คาดว่ากําไรสุทธิไตรมาส 1/2563 ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 1% QoQ และ 17% YoY ถ้าตัด TMB และ TCAP ซึ่งผลประกอบการจะถูกบิดเบือนโดยการควบรวมกิจการและการปรับโครงสร้างธุรกิจออกไป  คาดกําไรไตรมาส 1/2563 จะลดลง 4% QoQ และ 25% YoY มาจาก

 

1) การตั้งสํารองเพิ่มขึ้นในรูปของ management overlay เพื่อสะท้อนผลกระทบที่อาจได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อคุณภาพสินทรัพย์

 

2) NIM ลดลง โดยมีสาเหตุมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในเดือนก.พ. และลดลงอีก  0.25% ในเดือนมี.ค. ทั้งๆ ที่ ได้รับประโยชน์จากการนํามาตรฐานบัญชี TFRS9 มาใช้ในรูปของการใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอกแทนตราดอกเบี้ยคงที่ที่ตํ่ากว่าปกติ (teaser rate) และรับรู้รายได้ดอกเบี้ยในเกณฑ์คงค้างสําหรับพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

 

3) อัตราการขยายตัวของสินเชื่อชะลอตัวลง ดังเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อ YTD ที่ 0.5% ณ เดือนก.พ.

 

4 ) Non-NII ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากกําไรจากเงินลงทุนที่ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมที่อ่อนแอลง โดยมีสาเหตุมาจากการจัดชั้นค่าธรรมเนียม upfront fee ในการให้สินเชื่อใหม่เป็นรายได้ดอกเบี้ยที่ทยอยรับรู้ภายใต้มาตรฐานบัญชี TFRS9

 

5) ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานลดลง แต่อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะสูงขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากรายได้ที่อ่อนแอลง

 

แนวโนมปี 2563 คาดว่ากําไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะลดลง 27% จากสินเชื่อที่คาดจะหดตัวลง 2%, NIM จะลดลง 20 bps, non-NII จะลดลง 18% และ credit cost จะเพิ่มขึ้น 25 bps แม้แนวโน้มกําไรของกลุ่มธนาคารดูอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้นในทุกๆด้าน แต่ธนาคารต่างๆ มีงบดุลที่แข็งแกร่งอย่างมากซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจขาลง ไม่เหมือนกับวิกฤติการเงินปี 2540

 

กลุ่มธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.32% (16.1% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1) ณ สิ้นปี 2562 แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา และสูงกว่า 9.23% สิ้นปี 2540 อย่างมาก 

 

นอกจากนี้กลุ่มธนาคารก็มีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากและเงินกู้ยืม ที่ 92.6% ณ สิ้นปี 2562 ตํ่ากว่าระดับ 134.8% ณ สิ้นปี 2540 อย่างมาก สะท้อนถึงสภาพคล่องจํานวนมาก LLR coverage ที่ 154% ณ สิ้นป้ 2562 ชี้ให้เห็นว่าธนาคารต่างๆ มี LLR ส่วนเกินอยู่บ้างซึ่งสามารถนํามาใช้ได้ในภาวะเศรษฐกิจขาลง   

 

นอกจากนี้ธปท.ได้ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อและการกันเงินสํารองสําหรับสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างแล้ว หรือมีการผ่อนปรนเงื่อนไขการชําระหนี้และขยายระยะเวลาชําระคืน สําหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจขาลงจนถึงเดือนธ.ค.65 การนํามาตรฐานบัญชี TFRS9 มาใช้ในไตรมาส 1/2563 ทําให้ธนาคารมีตัวเลือกที่จะตั้งสํารองส่วนขาด (รวมผลกระทบจากโควิด-19) ในส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่องบกําไรขาดทุน

 

อย่างไรก็ดี Valuation ธนาคารแม้จะถูก แต่ไม่จําเป็นต้องรีบซื้อ เรายังคงเลือก BBL เป็น top pick ของกลุ่มธนาคาร เพราะมี LLR coverage สูงที่สุด เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้เมื่อใด ธนาคารต่างๆ จึงยังคงเผชิญกับความเสี่ยงขาลง หลัก ๆ ในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์แม้หุ้นธนาคารส่วนใหญ่ซื้อขายที่ valuation ถูก แต่เราแนะนําให้นักลงทุนรอจนกว่าความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวลดลง