เสนอทบทวนห้ามส่งออกไข่ไก่

06 เม.ย. 2563 | 08:43 น.

สมาคมฯขอพาณิชย์ทบทวนห้ามส่งออกไข่ไก่-ยืดปลดระวางแม่ไก่ ระบุส่อแววผลผลิตล้นซ้ำรอยช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมากว่าจะแก้ปัญหาได้ใช้เวลานานกว่า 4 ปี แจงยิบราคาไข่ย้อนหลัง5 ปี ย้ำมีการประชุมร่วมหน่วยงานรัฐทบทวนทุก1-2 เดือน

นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า  หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

(กกร.) เพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพงและขาดแคลนนั้นที่ประชุมกกร.มีมติให้ห้ามการส่งออกไข่ไก่ในระยะแรก 7 วัน เมื่อครบ 7 วันก็ขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็น  30 วัน รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ครอบครองไข่ไก่เกินกว่า 100,000 ฟองต่อวัน แจ้งปริมาณการผลิต ปริมาณการรับซื้อ การจำหน่าย และสต๊อก รวมทั้งสถานที่เก็บ ให้กับกระทรวงพาณิชย์ทราบ ทุกวันตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.เป็นต้นไป ทางเกษตรกรก็ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวโดยไม่มีการส่งออกไข่ไก่นับตั้งแต่กกร.มีมติออกมา และพร้อมจะรายงานสต๊อกไข่ไก่ที่มีให้กับทางการรับทราบ

 

เสนอทบทวนห้ามส่งออกไข่ไก่

 

 ล่าสุดเกษตรกรขอให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนมติดังกล่าวโดยเฉพาะการห้ามส่งออกไข่ไก่ไปต่างประเทศ ไม่ควรให้นานถึง 30 วันเพราะเสี่ยงต่อการทำให้ปริมาณไข่ไก่ล้นตลาดเนื่องจากทำให้มีไข่เหลือในประเทศจากการที่ไม่ได้ส่งออกกว่า 1 ล้านฟองต่อวัน รวมกับก่อนหน้านี้ภาครัฐก็กำหนดมาตรการปลดแม่ไก่ยืนกรงออกไปยาวนานกว่า 80 สัปดาห์ ทำให้แม่ไก่เหล่านี้ยังผลิตไข่ออกมาสู่ตลาดทุกวัน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการที่ไข่จะล้นตลาดไปอีก

“ในช่วงที่ผ่านมาสาเหตุที่ทำให้ไข่ราคาแพงและกลายเป็นของหายากส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชนตื่นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้แห่กักตุนสินค้ารวมทั้งไข่เป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นเป็น 3-5เท่าจากเวลาปกติ ส่งผลให้เกิดดีมานด์เทียมขึ้น เพราะความต้องการนั้นเป็นเพียงความต้องการชั่วคราวขณะที่ผลผลิตไข่ไก่ก็ยังออกมาเท่าเดิมคือ 40-41 ล้านฟองต่อวัน ส่วนกำลังการบริโภคต่อวันประมาณ 38-39 ล้านฟองเท่านั้นเนื่องจากคนไทยบริโภคไข่อยู่ไม่เกิน 200ฟอง/คน/ปี  อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีคนฉวยโอกาสขายไข่แพงทั้งที่สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ประกาศราคาที่ 2.80 บาทต่อฟองแต่ก็มีเกษตรกรบางรายเท่านั้นที่ฉวยโอกาสขายราคาแพงตามใจชอบซึ่งหน่วยงานรัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ก็ดำเนินการนำกำลังเจ้าหน้าที่ไปจับกุมดำเนินคดีแล้ว”

 

ทั้งนี้สมาคม ขอชี้แจงว่าราคาไข่ไก่ขายราคานี้มาตลอด โดยกรมการค้าภายใน (คน.) กำหนดราคาขายไข่ไก่ปลีกต่อแผงไว้ที่ ไข่ไก่เบอร์3 ราคา 100.50 บาทไข่ไก่เบอร์2 ราคา 106.50 บาท ไข่ไก่เบอร์1 ราคา 115.50 บาท ผู้ค้าทุกภาคส่วนก็จะต้องขายตามราคาประกาศนี้ สำหรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มต่อฟองย้อนหลังปี 2558 ราคา 2.54 บาท ปี 2559 ราคา 2.89 บาท ปี 2560 ราคา 2.43 บาท ปี 2561 ราคา 2.56 บาท ปี 2562 ราคา 2.70 บาท ส่วนปี 2563 ตั้งแต่ม.ค.-มี.ค. ราคาเฉลี่ย 2.60 บาท

 

เสนอทบทวนห้ามส่งออกไข่ไก่

 

“ไข่ไก่ยังเป็นอาหารที่ถูกที่สุดถ้าคิดเป็นกิโลกรัม จะตกกิโลละ 58.5 บาท เท่านั้นและทำไมถึงจะกล่าวหาว่าสินค้าราคาแพงส่วนที่ว่าต้นทุนของไม่ถึง 2 บาทผมขอชี้แจงว่าการคิดต้นทุนของแต่ละฟาร์มเกษตกรไม่เท่ากันฟาร์มและขนาดการเลี้ยงก็ไม่เท่ากันในอดีตก็เกิดปัญหานี้ตลอด ทางรัฐก็เลยจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นมาเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ( สศก.) เพื่อพิจารณาต้นทุนของเกษตรสำนักงานนี้จะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกภาคส่วน มีทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกรมกองภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการประชุมพิจารณาต้นทุนราคาทุก 1-2 เดือน”นายมงคล กล่าว

นายมงคล กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นเกษตรกรทั้งประเทศจะยึดหลักต้นทุนที่เดียวกันและ กรมการค้าภายในจะมาควบคุมอีกที ครั้งล่าสุดที่ สศก.ประกาศต้นทุนไว้ที่ 2.68 บาททางฟาร์มประกาศขายที่ราคา 2.8 บาท เราไม่ได้กำไรเป็นบาทตามที่ถูกกล่าวหาส่วนที่ว่ากรมปศุสัตว์ฆ่าไก่ไป 20 ล้านตัวขอชี้แจงว่าเนื่องจากเมื่อ 5-6ปีที่แล้วมีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งขยายตัวการเลี้ยงเพิ่มขึ้นบางรายเพิ่มเป็น สองร้อยถึงสามร้อยเปอร์เซ็นต์ทำให้มีไก่ไข่ยืนกรงเพิ่มขึ้นเป็น 70ล้านตัวคิดเป็นจำนวนไข่ที่จะได้ 55 ล้านฟองต่อวัน ทั้งที่ความต้องการบริโภคมีเพียง 39-40 ล้านฟองต่อวัน ทำให้เกิดภาวะไข่ล้นสะสม 15 ล้านฟองต่อวัน เกษตรกรเริ่มมีการขาดทุนจากราคาที่ตกต่ำและทนการขาดทุนไม่ไหว จึงรวมตัวกันเข้ามาขอความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ให้มาช่วยเหลือ

 

โดยแรกเริ่มกระทรวงพาณิชย์ได้ใช้เงินคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ( ค.ช.ก.) มาช่วยชดเชยการส่งออกแต่เนื่องจากผลผลิตล้นระบบเป็นจำนวนมากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยวิธีนี้ทางเกษตรกรจึงได้ประชุมหารือกับกรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง จนได้ข้อสรุปว่าต้องใช้กลยุทธ์การลดต้นน้ำลดพ่อแม่พันธุ์ถึงจะทำสำเร็จ จากนั้นเกษตรกรก็ค่อยๆ ลดพ่อแม่พันธุ์โดยจะเริ่มแบบค่อยๆ ลดจำนวนจนกว่าจะถึงจุดที่สมดุลกว่าจะได้ผลในวันนี้เราใช้เวลาในการแก้ปัญหาไข่ล้นตลาดนานถึง 3-4 ปี

 

เสนอทบทวนห้ามส่งออกไข่ไก่

 

“หากภาครัฐยังไม่พิจารณายกเลิกการส่งออก และยังยืดเวลาปลดระวางแม่ไก่ออกไปอีก สมาคมฯก็ห่วงว่าอาจจะทำให้ไข่ไก่ล้นตลาดซ้ำรอยเหมือนช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาซึ่งต้องดูว่าประชาชนจะยังมีกำลังบริโภคไข่ไก่เหมือนช่วงที่ผ่านมาอยู่อีกไหมซึ่งเกษตรกรไม่ต้องการให้ไข่ไก่ล้นตลาดเพราะกว่าจะแก้ไขปัญหาได้ใช้เวลายาวนานและยิ่งในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้เป็นภาระของรัฐบาลโดยใช่เหตุและจะทำให้เกษตรกรล้มหายตายจากไปในที่สุด”  นายมงคล กล่าว