โควิดปัจจัยฉุดยานยนต์ไทย

06 เม.ย. 2563 | 07:30 น.

สถาบันยานยนต์ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมครึ่งปีแรก ชี้โควิด -19 ปัจจัยหลักกระทบทั่วโลก

ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สถาบันยานยนต์ เผย สัญญาณเตือนภัยอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ -มิถุนายน 2563 ประกอบไปด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ,ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงทั้งจากในและต่างประเทศ,เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอันเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่ลดลง,ราคาพืชผลทางการเกษตรตก,ภาคการผลิตที่มีผลต่อการนำเข้าชิ้นส่วนที่ลดลง


โดยศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้วิเคราะห์ว่า อุปสงค์ต่างประเทศหรือดีมานด์  ได้ส่งสัญญาณเตือนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลีย ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอเมริกายังส่งสัญญาณปกติ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังเนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19  มีความรุนแรงมากโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลก 


ส่วนอุปสงค์ในประเทศนั้น ส่งสัญญาณเตือนจากดัชนีราคาสินค้าเกษตร และดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจไทยที่ส่งสัญญาณเตือนติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 จากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากสถานการณ์ไวรัสโควิด -19

 

โควิดปัจจัยฉุดยานยนต์ไทย

 

ขณะที่อุปทานหรือซัพพลาย  มูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยกลับมาส่งสัญญาเตือนภัยเนื่องจากการนำเข้าชิ้นส่วนลดลง สอดคล้องกับปริมาณการผลิตที่มีแนวโน้มที่จะลดลง


ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขการผลิตรถยนต์ ลดลง 18% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นผลมจากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ลดลง  และมีปริมาณการผลิตลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นรถพีพีวี โดยตลาดรถยนต์ในประเทศลดลง 17% จากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- 19  ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลกับสถานการณ์แพร่ระบาดที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต จึงชะลอการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นไว้

 

โควิดปัจจัยฉุดยานยนต์ไทย

 

ด้านตลาดส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 5%  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562  จากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว โดยปริมาณการส่งออกลดลงในทุกตลาดยกเว้น ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา คิดเป็นสัดส่วนรวม 35% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณารายผลิตภัณฑ์ พบว่า รถพีพีวีมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น  36% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562  ขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งหมดมีจำนวน 1,375 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 7%