ชง‘บิ๊กตู่’พลิกวิกฤติโควิด  จัดแถวสวนยางสร้างรายได้เพิ่ม

07 เม.ย. 2563 | 23:30 น.

“อุทัย” ชง “บิ๊กตู่” พลิกวิกฤติโควิด-19 จัดระเบียบสวนยางใหม่ ยึดเศรษฐกิจพอเพียงในหลวง ร.9 นำร่องโครงการโค่นยางปีละ 4 แสนไร่บังคับปลูกแบบผสมผสาน สร้างรายได้เสริม ชี้โมเดลนี้ รัสเซียนำไปปรับใช้ปลูกข้าวสาลีจนเหลือส่งออกมากสุดในโลก

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก สหประชาชาติออกมาระบุว่าการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้ เป็นวิกฤติท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากโรคระบาดนี้เป็นภัยคุกคามทุกคน และยังไม่แน่ใจว่าระยะเวลาจะจบสิ้นเมื่อไรส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนต้องปรับตัว

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจึงมีแนวคิดว่าขณะนี้ประเทศไทยควรปรับตัวใหม่ในการปฎิรูปภาคเกษตรให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งรวมถึงการนำมาปรับใช้กับชาวสวนยาง ซึ่งในฐานะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้เสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกนย. ให้ประเดิมนำร่องการสงเคราะห์ปลูกยางทดแทนปีละ 4 แสนไร่ โดยใช้การปลูกแบบ5 (แบบผสมผสาน) บังคับให้เหลือ 45 ต้นต่อไร่ ส่วนที่เหลือจะปลูกพืชแซม เลี้ยงปลา หรือเลี้ยงหมูหลุม โดยให้ใช้งบจากพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49(2) (ใช้งบจากกองทุนพัฒนายางพาราจำนวนไม่เกินร้อยละ 40 เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทน) โดยไม่ต้องใช้งบจากรัฐบาลเลย แต่ต้องออกระเบียบบังคับ

“ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิดนี้ส่วนใหญ่ลูกหลานเกษตรกรจะกลับบ้านดังนั้นหากปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสานสมัยใหม่จะทำให้ฝ่าวิกฤติลดผลกระทบได้ ซึ่งแม้กระทั่ง นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสซีย ยังกล่าวยกย่องและชื่นชมว่า รัสเซียมีข้าวสาลีใช้ในประเทศจนเหลือส่งออกไปขายต่างประเทศมากที่สุดในโลก เป็นเพราะบุญคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช 

ชง‘บิ๊กตู่’พลิกวิกฤติโควิด   จัดแถวสวนยางสร้างรายได้เพิ่ม

ขณะที่นายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย เผยว่าจากที่ไวรัสโควิดกำลังแพร่ระบาด รัฐบาลมีมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ประกอบกับเวลานี้เป็นช่วงหน้าแล้ง ปริมาณยางออกมาน้อยและชาวสวนหยุดกรีดยางตามฤดูกาลแล้ว จะเห็นว่าในขณะนี้ทางโรงงานแปรรูปยางหลายโรงเริ่มหยุดรับซื้อน้ำยางสดแล้ว  และยืนยันว่าที่หยุดกันไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ทางธนาคารไม่ต้องตกใจ

อนึ่ง ปัจจุบันการยางแห่งประเทศไทยเปิดรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ในอัตราการจ่ายเงินเพื่อการปลูกแทนอยู่ที่ไร่ละ 1.6 หมื่นบาท เกษตรกรสามารถเลือกขอทุนปลูกแทนได้ 5 แบบ ได้แก่ 1. ปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี โดยวิธีการปลูกด้วยต้นยางชำถุง ต้นยางติดตาในถุง ต้นตอตายาง 2.ปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีโดยวิธีการปลูกด้วยเมล็ดหรือต้นกล้าแล้วติดตาด้วยยางพันธุ์ดี ซึ่งในแบบที่ 1 และ 2 จะต้องปลูกต้นยางพาราไร่ละ 76 ต้น 3. ปลูกแทนด้วยไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ 4.ปลูกแทนด้วยปาล์มน้ำมัน และ 5. ปลูกแทนแบบผสมผสาน จะต้องปลูกต้นยางไร่ละไม่ต่ำกว่า 40 ต้น 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563