ทางรอด วิกฤติแอลกอฮอล์ สู้โควิดแดนหมีขาว

05 เม.ย. 2563 | 02:35 น.

คอลัมน์หลังกล้องไซบีเรีย : ทางรอด วิกฤติแอลกอฮอล์ สู้โควิดแดนหมีขาว

เครื่องดื่มสีขาวใส “วอดก้า” คือสิ่งที่ต้องนึกถึงเมื่อพูดถึงแดนหมีขาว เนื่องจากเป็นเสมือนเครื่องดื่มประจำชาติที่ชาวรัสเซียนิยมและภูมิใจในฐานะถิ่นต้นกำเนิด เช่นเดียวกับในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นขณะนี้ วอดก้าไม่ได้เป็นแค่เครื่องดื่มสังสรรค์สำหรับชาวรัสเซีย แต่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย


แพทย์จากหน่วยงานควบคุมโรคในกรุงมอสโกออกมาให้ข้อมูลแนะนำว่า ชาวรัสเซียสามารถใช้วอดก้ามาเช็ดทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ ฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจติดอยู่มุมใดของบ้านได้ โดยอ้างอิงถึงงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี ซึ่งทดลองว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเอทานอล (สารแอลกอฮอล์จากการนำพืชผลทางการเกษตรจำพวกแป้งและน้ำตาลผ่านกระบวนการย่อยสลายและหมัก) มากกว่า 30% สามารถใช้ล้างมือหรือเช็ดสิ่งของฆ่าเชื้อไวรัสได้เมื่อใช้ล้างอย่างน้อย 30 วินาที


สาเหตุที่แพทย์รัสเซียออกมาให้ข้อมูลเช่นนี้ เพราะว่าสถานการณ์การกักตุนข้าวของ ทำให้คนบางส่วนไม่สามารถหาซื้อแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดโดยเฉพาะได้ ถ้าหากยังพอหาซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดได้ก็ควรใช้ เนื่องจากสินค้าประเภทนี้จะราคาถูกกว่าแอลกอฮอล์ล้างมือหรือที่ใช้กับผิวหนังได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดสิ่งของ ไม่ควรเอามาล้างมือ ดังนั้นก่อนใช้งานควรอ่านฉลากสินค้าก่อนใช้ให้ดี แต่แน่นอนว่า หากนำวอดก้ามาใช้เช็ดของจะได้ประสิทธิภาพไม่เท่ากับการใช้แอลกอฮอล์โดยเฉพาะ เพราะในวอดก้ามีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ราว 40% เท่านั้น

 

ทางรอด วิกฤติแอลกอฮอล์ สู้โควิดแดนหมีขาว

ส่วนความเชื่อที่ว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะช่วยฆ่าเชื่อไวรัสโควิด-19 ในลำคอได้ หน่วยงานสาธารณสุขรัสเซียก็พูดไปในทำนองเดียวกับกรมควบคุมโรคของไทย ยืนยันว่าการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ เหล้า ไวน์ หรือวอดก้า ไม่ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสในร่างกาย

การฆ่าเชื้อไวรัสควรใช้แอลกอฮอล์ 60% ขึ้นไป แต่ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักไม่ผสมในปริมาณมากขนาดนั้น เมื่อดื่มเข้าไป แอลกอฮอล์บางส่วนจะระเหยและเจือจางลง ไม่มีผลป้องกันไวรัสในระยะยาว หรือหากดื่มในปริมาณที่ป้องกันไวรัสได้จริง อาจช็อกจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ร่างกายเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าเดิม เพราะแอลกอฮอล์จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานไม่ได้เต็มที่ ร่างกายฟื้นฟูสภาพได้ช้า ส่งผลให้มีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น ส่วนเซลล์ปกติในร่างกายจะถูกทำลายไปด้วย ทำให้กระเพาะเป็นแผลหรืออาเจียนเป็นเลือด

ตั้งแต่กรุงมอสโกเริ่ม “ล็อกดาวน์” สั่งหยุดงาน ปิดร้านค้าเหลือเพียงร้านขายสินค้าจำเป็น พบว่ายอดการซื้อวอดก้าพุ่งสูงขึ้นกว่า 140% จนเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง 

วอดก้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม หากดื่มในปริมาณตามใจอยากจะเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ขณะนี้หลายพื้นที่ในรัสเซียต้องออกกฎจำกัดช่วงเวลาการขายวอดก้าหรือสั่งห้ามขายชั่วคราว เนื่องจากทางการรัสเซียกังวลว่าพอประกาศปิดสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการปิดผับบาร์ทั่วเมืองจะทำให้ชาวรัสเซียหันไปซื้อกลับมาดื่มอย่างหนักที่บ้าน หรือดื่มไปด้วยทำงานไปด้วย และอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการเพิ่มขึ้นของการทำร้ายร่างกายหรือการก่ออาชญากรรมที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดื่มจนขาดสติ

ถึงแม้ว่าวอดก้าจะเป็นของที่คู่กับชาวรัสเซีย แต่ความจริงแล้วชาวรัสเซียไม่ได้ขี้เมาหรือเป็นนักดื่มตัวยงอย่างภาพจำที่เราเข้าใจเท่าไหร่นัก เมื่อดูสถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2559 อัตราการดื่มของชาวรัสเซียลดลงถึง 43% น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศสหรือเยอรมนี ส่วนตัวประธานาธิบดีปูตินเอง ที่ผ่านมาได้พยายามรณรงค์ให้ชาวรัสเซียลดการดื่ม หันมาดูแลสุขภาพ ออกนโยบายกำหนดช่วงเวลาซื้อขายและควบคุมการโฆษณาสินค้าคล้ายกับไทย

ดังนั้นน่าจะชัดเจนแล้วว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะแรงแค่ไหนก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการรับมือโรคระบาดได้เท่าไหร่นัก สิ่งที่แพทย์ทั่วโลกแนะนำไปในทางเดียวกันคือการลดการพบปะผู้คน และหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำตลอดวัน เท่านี้เราก็สามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน


หลังกล้องไซบีเรีย
เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์

** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" **
Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย