บทเรียนด่วน2-โทลเวย์-โฮปเวลล์ กับรถไฟฟ้าสายสีแดง-เขียว

11 เม.ย. 2559 | 05:00 น.
เมื่อ 25 ปีก่อน ด่วน 2 โทลเวย์ และโฮปเวลล์ ต่างสร้างขึ้นไปในทิศทางด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร และโดยที่เป็นการแข่งขันกันเองจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นี่คือบทเรียนสำคัญของการพัฒนาสาธารณูปโภคแบบกระเป๋าใครกระเป๋ามัน ที่อาจเกิดซ้ำในกรณีรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเขียว

ผมได้รับมอบหมายจากทางกองบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจชั้นนำของประเทศ ให้เขียนบทวิเคราะห์นี้เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจแก่นักวางนโยบายและแผนของชาติ พร้อมกับให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม โดยมุ่งชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ขาดการประสานงาน จนนำไปสู่ความล้มเหลว เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดซ้ำขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะกรณีรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเขียว เรามาลอง สรุปบทเรียนในอดีตที่ผ่านมากัน

 ต่างสร้างดาวกันคนละดวง

โครงการทางด่วนทั้ง 3 เส้น ต่างก็สร้างกันไปทางเดียวกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้:

1. โครงการทางด่วนขั้นที่สอง เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยร่วมกับ บจก.กูมาไกกูมิ จากประเทศญี่ปุ่น ทางด่วนนี้วิ่งขึ้นเหนือไปจนถึงบางปะอินและสามารถเชื่อมต่อไปยังถนนสายเอเซีย

2. โครงการดอนเมืองโทลเวย์ ก็สร้างคร่อมอยู่บนถนนวิภาวดี-รังสิตไปสิ้นสุดตรงบริเวณประมาณ ก.ม.35 ของ ถ.พหลโยธิน โครงการนี้เป็นของกรมทางหลวง และ

3. โครงการโฮปเวลล์ก็สร้างคู่ขนานกับถนนวิภาวดีโดยคร่อมเส้นทางรถไฟไปทางด้านเหนือเช่นกัน โครงการนี้เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัทของมหาเศรษฐีฮ่องกงชื่อลีกาชิง

 ปัญหาอยู่ตรงไหน

แล้วทำไมไม่ประสบความสำเร็จ ประเด็นก็คือ โดยที่ทั้ง 3 เส้นทางนี้ล้วนแต่แข่งขันกันเองจึงปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

1. ทางด่วนขั้นที่ 2 โดยเฉพาะตั้งแต่ ถ.แจ้งวัฒนะขึ้นไปทางด้านเหนือมีผู้ใช้จำนวนน้อยมากมาก ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ขาดทุนก็ว่าได้ แม้แต่ตอนเริ่มต้นโครงการก็เกิดปัญหาจน บจก.กูมาไกกูมิ ต้องถอนตัวออกไปเลย

2. ดอนเมืองโทลเวย์ ก็มีผู้ใช้สอยน้อยมาก จนต้องมีการนำหางบัตรมาจับฉลากแลกสร้อยคอทองคำกันเลย มาถึงสมัยรัฐบาลทักษิณได้ส่งเสริมให้มีการลดราคาเหลือเพียง 20 บาทตลอดสาย จึงมีผู้คนขึ้นกันอย่างล้นหลาม แต่ในภายหลัง เมื่อมีการขึ้นค่าโดยสารอย่างมหาโหด ก็กลับมีคนขึ้นน้อยลงเป็นอย่างมาก ยกเว้นในชั่วโมงเร่งด่วนจริงๆ

3. โครงการโฮปเวลล์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด กลายเป็นโครงการที่ผมขนานนามว่าเป็น Stonehenge เมืองไทย เพราะมีสภาพคล้ายเสาหินในอังกฤษ

 ความทำอย่างไร

ถ้าหน่วยราชการโดยรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ มีการทำงานอย่างมีบูรณาการ ก็ควรให้สร้างเฉพาะโครงการโฮปเวลล์ ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาทางรถไฟและทางด่วนไปพร้อมๆ กัน โดยไม่พึงสร้างทางด่วนบนทางหลวงเดิมคือ ถ.วิภาวดี ส่วนกรณีทางด่วนขั้นที่ 2 ก็ควรให้สิ้นสุดลงเฉพาะถนนงามวงศ์วานหรืออย่างมากไม่เกินแจ้งวัฒนะ และให้รวมเส้นทางกับโครงการโฮปเวลล์เพื่อเชื่อมต่อไปจนถึงรังสิต

เมื่อโครงการสร้างทางด่วนขึ้นเหนือสำเร็จ ในขั้นตอนต่อมา ก็อาจพัฒนาตามทางรถไฟต่อไปจนถึงบางปะอินและวังน้อยก็ยังได้ แต่โดยที่การลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องของ "คนละกระเป๋า" จึงต่างคน "ต่างสร้างดวงดาว" และล้มเหลวในที่สุด ที่สำคัญทำให้ผลประโยชน์ของชาติเสียหาย ทำให้ประชาชนอดใช้สอยประโยชน์เท่าที่ควร และชื่อเสียงของประเทศไทยก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

 ประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอย?

เหตุการณ์ทำนองนี้อาจจะเกิดขึ้นในกรณีรถไฟฟ้าสายสีแดงที่วิ่งจากบางซื่อไปถึงรังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่วิ่งจากจตุจักรไปจนถึงลำลูกกา เพราะทั้ง 2 เส้นนี้วิ่งขนานกันและห่างกันเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น นี่ก็เป็นเรื่องคนละกระเป๋าระหว่าง รฟม. และกรุงเทพมหานครอีกเช่นกัน

ถ้าคิดอย่างมีบูรณาการก็ควรสร้างเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีแดง และให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเชื่อมต่อกับสายสีแดงได้สะดวกที่ตลาดจตุจักร จากนั้นหากต้องการแยกสายเลี้ยวเข้าถนนรามอินทรา ถนนลำลูกกาหรือถนนรังสิตนครนายก ก็สามารถเลี้ยวเข้าได้โดยง่ายไม่วิ่งคู่ขนานเส้นทางกันเช่นนี้

ในกรุงเทพมหานคร ยังมีเส้นทางรถไฟฟ้าที่ควรสร้างอีกหลายสาย ไม่ใช่ไปกระจุกกันอยู่ในบริเวณใด และรถไฟฟ้าแต่ละสาย ควรขนคนจากนอกเมืองเข้าเมือง ได้แก่

1. สายสีม่วงชุมบางซื่อผ่านสะพานพระปกเกล้ามาถึงถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นการเชื่อมเข้าเมืองโดยตรงจากด้านเหนือถึงด้านใต้ของกรุงเทพมหานคร

2. สายสีส้มจากบางบำหรุถึงแยกบางกะปิแต่ไม่ควรสร้างไปถึงมีนบุรีโดยสายนี้เป็นการเชื่อมเข้าเมืองระหว่าง 2 พื้นที่สำคัญด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก

3. สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจากสามแยกท่าพระมาตามถนนพระราม 3 ถึงคลองเตยซึ่งน่าจะมีผู้ใช้เป็นจำนวนมากอีกทั้งยังผ่านย่านธุรกิจ และสมควรยกเลิกรถ BRT ที่กินพื้นที่ถนนไปข้างละ 1 ช่องทางจราจร

4. สายสีเหลืองจากลาดพร้าวมาตามถนนลาดพร้าว ผ่านศรีนครินทร์ เทพารักษ์และสิ้นสุดที่สำโรงซึ่งเป็นเขตต่อเมืองไม่ได้ออกไปนอกเมืองเช่นถนนรามอินทราและจะมีผู้ใช้บริการมากกว่าอย่างแน่นอน

5. สายสีเทาซึ่งควรเริ่มจากถนนลาดพร้าวมาตามถนนเอกมัยรามอินทราผ่านทองหล่อพระรามสี่และรัชดาภิเษกบริเวณถนนสาธุประดิษฐ์ เป็นต้น

ในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่สามารถสร้างบูรณาการได้ น่าเสียดายที่ในสมัยรัฐบาลรัฐประหารก็ยังไม่สามารถสร้างบูรณาการได้เช่นกัน สู้ๆ ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559