โควิด-19 ทำลายล้าง นานวันยิ่งรับมือยาก

04 เม.ย. 2563 | 08:00 น.

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 นับวันมีข้อจำกัดในการรับมือยากขึ้น ทั้งความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องอยู่กับคนป่วย แม้แต่สถานที่รองรับคนป่วยจากโควิด-19 เริ่มมีข้อจำกัด ด้วยอุปสรรครอบด้านทั้งคนป่วยเดิมที่มีจำนวนมากและเสียงต่อต้านจากชาวบ้านใกล้โรงพยาบาล ไม่เว้นแม้แต่ศพคนตายจากโรคโควิด-19 หลายวัดก็ไม่พร้อมที่จะรับฌาปนกิจ

 

โควิด-19 ตัดวงจรทุกอย่างบนโลก ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวที่ใช้ชีวิตไม่ปกติ ทำลายผู้ประกอบการ ธุรกิจ นายจ้างลูกจ้างทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ที่กำลังสะท้อนกลับมาถึงการทำลายระบบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอย่างโหดร้าย

 

วันนี้ส่งออกและการค้าภายในทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการอยู่ในช่วงชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว (จากค่าเงิน สงครามการค้า และเศรษฐกิจโลก) จนมาสู่ขั้นธุรกิจแห่ลดกำลังการผลิตลง 60-70% จนไปถึงหยุดผลิตชั่วคราว เมื่อมาถูกซ้ำเติมด้วยพายุลูกใหญ่ “โควิด-19” ทำให้คำสั่งซื้อลดลง ผู้ส่งออกจำนวนมากถูกชะลอการส่งมอบ

 

การแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้นไปภูมิภาคอื่นๆ ทั้งอาเซียน ประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เกิดการปิดพรมแดนของแต่ละประเทศ ขณะที่ประเทศต่างๆ ห้ามผู้เดินทางที่ประทับตราวีซ่าและการเปลี่ยนเที่ยวบินเข้าประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ล่าสุดทุกสายการบินออกมาตรการในการลดค่าใช้จ่ายที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งการยกเลิกเที่ยวบิน ลดเงินเดือนฝ่ายบริหาร และขอให้พนักงานลาโดยไม่รับเงินเดือน

 

ผู้ประกอบการในวงการโลจิสติกส์มองว่า ผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยว จากปีที่แล้วจำนวน 39.8 ล้านคนจะหายไปจำนวนมาก ทำให้รายได้ท่องเที่ยวเมื่อรวมต่างชาติและนักท่องเที่ยวในประเทศคาดว่าจะหายไปเกือบ 9.9 แสนล้านบาทหรือมากกว่านี้ และปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากจำนวน 4 ล้านตำแหน่ง อาจมีผู้ถูกเลิกจ้างประมาณ 1.0 - 1.2 ล้านตำแหน่ง

 

โควิด-19 ทำลายล้าง นานวันยิ่งรับมือยาก

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากการส่งออกที่คาดว่าทั้งปีอาจติดลบมากกว่าปีที่แล้ว รวมถึงการบริโภคภายในที่จะกระทบภาคค้าส่งและค้าปลีกตลอดจนธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร, นวดแผนโบราณ, มหรสพ และบริการต่างๆ กรณีเลวร้ายสุดอาจมีคนตกงานมากกว่า 1 ล้านคน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีการประเมินสถานการณ์ผลกระทบต่างๆ ทั้งจากโควิด-19 ภัยแล้ง การส่งออกคาดว่าจะกระทบระบบเศรษฐกิจประมาณเดือนละ 2.5 แสนล้านบาทหรือมากกว่านี้ ที่จะทำให้จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวลง

 

นอกจากนี้การประกาศปิดพื้นที่หรือล็อกดาวน์ในเขตกทม.และปริมณฑลและในอีกหลายจังหวัดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 ด้วยการปิดห้างสรรพสินค้า ร้านขายอาหาร สถานบันเทิง ร้านเสริมสวย งานอีเวนต์โดยงานในภาคบริการส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบมีประมาณ 8.4 แสนคน เช่น หมอนวดแผนโบราณประมาณ 1.0 แสนคน ร้านเสริมสวยประมาณ 1.2 แสนแห่ง มีแรงงาน 3.6 แสนคน, ร้านอาหารที่จดทะเบียนจำนวน 14,413 แห่ง มีแรงงานประมาณ 2.16 แสนคน และแรงงานที่ทำงานอยู่ตามบูธร้านค้าย่อยในห้างสรรพสินค้าเป็นหลักแสนคน ที่คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน

 

ผลกระทบจากพายุโควิด-19 สร้างความเสียหายให้กับประชาชน และระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่รู้ว่าจะต้องถมเงินช่วยเหลือเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พ้นวิกฤตินี้เร็ววันคือ ประชาชนทุกคนต้องเคร่งครัดในการป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากพายุลูกนี้ให้ได้ก่อน  เพราะถ้าเกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเป็นรายวันแบบนี้...นานวันจะยิ่งรับมือยาก 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับ 3,563 วันที่ 5-8 เมษายน 2563