KBANKรับ พิษโควิดกดNAV10% 

06 เม.ย. 2563 | 01:55 น.

กสิกร ไพรเวทแบงก์ หวั่นการแพร่ระบาดของไวรัสยืดเยื้อ กดตลาดหุ้นโลกปรับลด 20-25% เผย 3 เดือนแรก NAV ลดลง 7-10% แนะ 3 ทางออกนักลงทุน เลี่ยงภาวะ “ลงโดนฟื้นไม่ได้” เหตุขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ช่วงตกตํ่า และเสียโอกาสเมื่อตลาดฟื้น

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า ผลการดำเนินงานช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (Aam) ลดลง สาเหตุหลักมาจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ลดลง จากการด้อยค่าของสินทรัพย์ทั้งในตลาดหุ้นโลก ตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้นกู้ และทองคำ ซึ่งช่วงไตรมาสแรก ผันผวนและปรับลงค่อนข้างสูง ส่วนการไหลออกของสินทรัพย์การลงทุนนั้นมีบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีความตื่นกลัวการผิดนัดชำระหนี้ในตราสารหนี้ และลูกค้ามีพฤติกรรมปรับลดความเสี่ยงลงจากพอร์ตตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนสูงเปลี่ยนมาเป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงตํ่า หรือบางคนเปลี่ยนไปถือเงินสดแทน

 

ทั้งนี้การออกจากพอร์ตตราสารหนี้ ไปถือเงินสด เป็นลักษณะการหมุนเวียนรวมอยู่ภายในพอร์ตอยู่แล้ว ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติ เมื่อตลาดหรือเศรษฐกิจมีความผันผวน นักลงทุนจะลดรับความเสี่ยงลง โดยเปลี่ยนจากตลาดหุ้นเป็นตราสารหนี้หรือเปลี่ยนจากสินทรัพย์ลงทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงตํ่าบ้าง ก็จะถือเงินสดแทนเพื่อรอจังหวะการลงทุน

ช่วงตลาดผันผวน โดยเฉลี่ยมูลค่า AUM ที่ปรับลง 7-10% กระทบมากหลักหมื่นล้านบาทในสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง รองลงมาเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงปานกลาง ส่วนเงินฝากไม่มีผลกระทบด้านราคา และลูกค้ามีการ switch คือ ปรับจากตัวนี้เข้าไปตัวโน้นบ้าง แต่ก็หมุนเวียนอยู่ภายในพอร์ต โดยไม่ตื่นกลัวถึงกับถอนการลงทุนออกไป

 

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์

 

ส่วนสถานการณ์ของผู้ลงทุน อาจตื่นตระหนกจากตลาดผันผวนและมาตรการลดการระบาดของไวรัส ซึ่งอาจจะกระทบผลประกอบการบริษัทบ้าง (รายกลาง-เล็ก) แต่บริษัทขนาดใหญ่มักจะมีเงินกำไรสะสม แม้ว่าจะไม่มีกำไรใหม่เข้ามา หรือสร้างความเสียหายระยะสั้น แต่เมื่อปัญหาคลี่คลายก็จะกลับสู่สภาวะได้ แม้จะไม่สูงสุด รายใหญ่ไม่ถึงกับขาดสภาพคล่องจนต้องผิดนัดชำระหนี้ ที่สำคัญถ้านักลงทุนไม่ขายสินทรัพย์ในช่วงที่ตลาดตกตํ่า

สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ ที่เราพูดว่าลงโดน ขึ้นไม่ได้คือโดน 2 เด้ง สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายสินทรัพย์ออกหมดในภาวะที่ตลาดตกตํ่า เพราะ 1.เสียหายจากการขายขาดทุน 2.เสียโอกาส เมื่อตลาดฟื้นตัว เราไม่ได้ฟื้นตัวด้วย ซึ่งแนวโน้มไวรัส อาจจะอยู่กับเราในระยะยาว เช่นเดียวกับไข้หวัดไปอีก แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะมีการปรับตัว โดยมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาเดินต่อในครึ่งปีหลังของปีนี้ กรณีเลวร้ายอาจลากยาวไปไตรมาสที่ 3 หรือปลายไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ แต่ถ้าประชาชนมีความตระหนักรู้ร่วมด้วยช่วยกัน โดยปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ แล้วจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

 

ตอนนี้ตั้งแต่จีนประกาศการแพร่ระบาดของไวรัสมาจนถึงปัจจุบันเท่ากับเราอยู่กับไวรัสมาแล้ว 70 วัน และอย่าลืมว่ามีเวลาอีก 90 วันกว่าจะถึงครึ่งปีหลัง โดยมีคาดการณ์ว่าในแถบยุโรปจะพีกในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าและค่อยๆ ปรับตัว แต่ต้องรอ มาตรการของทางการที่จะออกมา

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5-8 เมษายน 2563