เศรษฐีไทยวูบ9แสนล. ‘เจริญ’ลดฮวบ

04 เม.ย. 2563 | 07:45 น.

ฟอร์บส์สำรวจความมั่งคั่งเศรษฐีไทยยุคฝ่าภัยโควิด-19 ทรัพย์สิน 50 เศรษฐีไทยวูบ 9.24 แสนล้านบาท ครอบครัวเจียรวนนท์ยังครองแชมป์ ขณะ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” มูลค่าทรัพย์สินหาย 1.88 แสนล้าน

เศรษฐกิจโลกที่เผชิญปัจจัยลบจากสงครามการค้าตลอดปี 2562 ล่าสุดถูกกระหนํ่าซํ้าเติมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยที่พึ่งการส่งออกและท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบของโลกดังกล่าวเช่นกัน ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ยังทรุดหนัก โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปแล้วเกือบ 1 ใน 3 เทียบจากเดือนเมษายนปีที่แล้ว

 

ฟอร์บส์ จัดอันดับเศรษฐีไทยปีล่าสุดผลปรากฏว่า ทรัพย์สินรวมของ 50 เศรษฐีไทย ลดลงกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงประมาณ 9.24 แสนล้านบาท โดยมหาเศรษฐี 38 คนในทำเนียบ มีทรัพย์สินสุทธิลดลง ในจำนวนนี้มี 6 คนที่ความมั่งคั่งลดลงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้ ตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังครองตำแหน่งอันดับ 1 แม้ทรัพย์สินจะลดลง 2.2 พันล้านดอลลาร์ (7.2 หมื่นล้านบาท) จาก 2.95 หมื่นล้านดอลลาร์(9.73 แสนล้านบาท) ไปอยู่ที่ 2.73 หมื่นล้านดอลลาร์(9แสนล้านบาท) ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สามารถปิดดีลเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ในไทยและมาเลเซียมูลค่า 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ

 

อันดับ 2 คือ เฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของ Red Bull เครื่องดื่มชูกำลังระดับโลก และเป็นหนึ่งในแปดผู้มีรายชื่อในทำเนียบที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แม้ภาพรวมจะย่ำแย่ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.99 หมื่นล้านดอลลาร์ (6.56 แสนล้านบาท) เมื่อปีก่อน เป็น 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ (6.66 แสนล้านบาท)

 

ขณะที่เจริญ สิริวัฒนภักดี จากเครือไทยเบฟเวอเรจ ที่เดินหน้าลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการมิกซ์ยูสกลางเมือง ปีนี้ขยับมาอยู่อันดับ 3 ด้วยทรัพย์สิน 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.46 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ดีทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงจาก 1.62 หมื่นล้านดอลลาร์ (5.34 แสนล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา หรือลดลงมากถึง 1.88 แสนล้านบาท

 

ตระกูลจิราธิวัฒน์ หล่นจากอันดับ 2 มาอยู่ในอันดับ 4 ในปีนี้ ด้วยความมั่งคั่งที่ลดลงกว่าครึ่งไปอยู่ที่ 9.5 พันล้านดอลลาร์ (3.13แสนล้านบาท) พวกเขาเพิ่งนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนับเป็นการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวและนักช็อปที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ราคาหุ้นของเซ็นทรัล รีเทล ตํ่ากว่าราคาไอพีโอถึงร้อยละ 27 โดยตกลงต่อเนื่องตั้งแต่เข้าทำการซื้อขาย

ด้านมหาเศรษฐีอันดับ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี แม้ว่าราคาพลังงานทั่วโลกจะประสบภาวะตกต่ำครั้งรุนแรง มหาเศรษฐีจากวงการพลังงานของไทย 3 ใน 4 คนกลับมีทรัพย์สินงอกเงย ทั้งนี้ เป็นผลจากการขยับความสนใจไปที่ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน ตามนโยบายรัฐที่มุ่งไปหาเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น กลุ่มนี้ สารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นผู้ที่ทำเงินเพิ่มขึ้นมากที่สุด ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 6.8 พันล้านดอลลาร์ (2.24 แสนล้านบาท) พุ่งขึ้น 1.6 พันล้านดอลลาร์ (5.28 หมื่นล้านบาท) โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ของเขา เปิดโรงพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ตลอดจนเข้าดำเนินการโครงการใหม่ ๆ อาทิ ท่าเรือและถนน

 

เศรษฐกิจที่ดิ่งตัวลงโลกสูญเสียความมั่งคั่งจำนวนมหาศาล แต่สิ่งที่ตามมาคือ ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันวิกฤติใหญ่ครั้งร้ายแรงที่สุดนับแต่สงครามโลก ครั้งที่ 2 ภัยร้ายของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงคร่าชีวิตไปจำนวนมาก ยังทำให้ผู้คนสูญเสียอาชีพ-รายได้ บรรดามหาเศรษฐีนักธุรกิจ ที่แม้ธุรกิจได้รับผลกระทบจนแทบพยุงไม่ไหว ยังระดมช่วยเหลือในการร่วมต่อสู้วิกฤติโควิด-19

 

บิลล์ เกตส์ บริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐหนุนวิจัยวัคซีน แจ็ค หม่า มอบ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้เขายังบริจาคชุดทดสอบโรค 500,000 ชุดและหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้นให้กับประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่ง LVMH เจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ได้แปลงโรงงานผลิตนํ้าหอมทำเจลล้างมือฆ่าเชื้อ หาหน้ากากอนามัย 40 ล้านชิ้นให้ฝรั่งเศส เป็นต้น

 

ในจำนวนนี้ฟอร์บส์รายงานด้วยว่า “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เอกชนชั้นนำของประเทศไทย เจ้าของอาณาจักรอุตสาหกรรมด้านเกษตรและอาหารเบอร์ต้นของโลก เปิดโครงการบรรเทาความเดือดร้อนให้สังคม อาทิ ทุ่มงบตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกประชาชน ตั้งเป้าผลิตเดือนละ 3 ล้านชิ้น มอบชุดป้องกันการติดเชื้อเพื่อแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาล โครงการจัดส่งอาหารฟรีให้บุคลากรโรงพยาบาลรัฐกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักบริเวณ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563