ปั๊มหัวใจ … เศรษฐกิจทุกระดับ

04 เม.ย. 2563 | 02:05 น.

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนดูเงียบเหงาแบบไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร หลายคนเปรียบเปรยว่าชีพจรอ่อนล้าเต็มที บางคนมองว่าทั้งตัวเต็มไปด้วยแผล ธุรกิจมีเลือดไหลออกไม่หยุด แรงงานหัวใจหยุดเต้น หลายองคาพยพสงบเงียบหยุดทำงานไปแล้ว เรียกว่าสัญญานชีพทุกตัวแทบลงมาที่จุดวิกฤติ หมอเศรษฐกิจประจำห้องไอซียูส่ายหน้า ส่วนรัฐผู้รับผิดชอบต้องงัดวิธีการเยียวยารักษาให้ดี ดูว่าจะทำตรงไหนก่อน อันไหนหลัง หรือส่วนไหนต้องทำพร้อมกัน และขั้นนี้ดูแล้วดีที่สุดคือ ต้องปั๊มหัวใจให้เต้นก่อนอื่นใด แม้ร่างกายและส่วนอื่น ๆ จะอ่อนล้า จนนอนแบบบนเตียงในห้องไอซียู …. แต่ก็ยังหายใจ

 

หากมองในภาพรวมทั้งนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และของการคลัง ที่ออกทั้งหมดนั้น พอเห็นได้ว่าเป็นมาตรการระยะสั้น หากเป็นยา ก็ถือว่าเป็นยาแรงกว่าที่เคยใช้มา ผมมองว่าหากจะให้ได้ผลในภาพรวมนั้น มาตรการที่ออกมาจะต้องเป็นมาตรการที่ทั้งลดหรือชะลอการไหลออกของเงินสดของธุรกิจ เงินสดเสมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงชีพธุรกิจ เพราะตอนนี้เลือดใหม่ที่ไหลเข้า (Cash inflow) ทดแทนนั้นมีน้อยลงมาตลอดตั้งแต่กลางปีที่แล้วเมื่อเกิดสงครามการค้า ภัยแล้ง และมาถึงจุดที่หัวใจช็อกและหยุดเต้นเมื่อมีการแพร่ของไวรัสโควิค-19 และหลายรายธนาคารก็ถอดสายออกซิเจนของธุรกิจออกเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาคแรงงานนั้น ในที่สุดก็ต้องอัดฉีดเงินเข้ามา ฟรีก็ฟรี ใครจะว่าอะไรก็ไม่มีสน เพราะหากไม่ทำวุ่นแน่ ๆ คนที่ค้านคงไม่เข้าใจความรู้สึกว่าตอนไม่มีเงินเลยนั้น มันทุกข์ ลำบากขนาดไหน และจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ทางสังคมมากขึ้น

 

หากมองการลดเลือดที่ไหลออกจากวิสาหกิจและธุรกิจ หรือแม้แต่คนทั่วไปนั้น จะเป็นมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการชะลอการจ่ายเงินสดออก (Cash Outflows) เพื่อพยุงกิจการให้คงอยู่ต่อ เพื่อชะลอการลดหรือเลิกการจ้างงาน มาตรการเหล่านี้ ได้แก่ มาตรการการคลังจำพวก การลดภาษี การชะลอการจ่ายภาษี ลดอัตราภาษี ลดการจ่ายค่าประกันสังคมให้กับลูกจ้าง รวมทั้งการชะลอการจ่ายสินเชื่อ ลดหรือยกเว้นหรือชะลอการจ่ายดอกเบี้ยสถาบันการเงิน ฯลฯ

 

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นมาตรการประเภทเพิ่มกระแสเงินสด (Cash inflows) ที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบธุรกิจ ผ่านสินเชื่อมือของประชาชนโดยการเพิ่มรายได้ผ่านการลดค่าใช้จ่ายทิ่ที่ต้องจ่ายให้รัฐวิสาหกิจ โดยหวังว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นหรือรายจ่ายที่ประหยัดได้ของประชาชนทั่วไปนั้นจะไปเพิ่มการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้นก็จะทำให้ธุรกิจมีรายได้ยอดขายเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือเพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้ลดลง มีเงินที่จะดูแลตัวเองและครอบครัวได้ระดับหนึ่ง ไม่งั้นปัญหาสังคมตามมาบานเบอะแน่ ๆ

 

มาตรการที่ช่วยลดการไหลออกของเงินสดในมือผู้ประกอบการและแรงงาน ของสถาบันการเงินต่าง ๆ นั้น แตกต่างกันแต่ละแห่ง พอสรุปได้ ดังนี้

1. การชะลอหรือพักชำระเงินต้นและปรับลดดอกเบี้ย ระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน

2. หักค่าใช้จ่ายค่าจ้างแรงงานเพิ่มเป็นสามเท่าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

3. ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการว่าจ้าง จาก 3 % เป็น 1.5%

4. พักชำระหนี้สินเชื่อบ้าน/รถยนต์ ทั้งต้นทั้งดอกไม่เกิน 3 เดือน

5. พักชำระหนี้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดระยะเวลา 3 เดือน

6. สินเชื่อระยะสั้นสำหรับ SMEs ดอกเบี้ยต่ำ

 

ส่วนมาตรการที่เติมเลือดใหม่เข้าสู่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและแรงงาน ได้แก่

  1. สินเชื่อ 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำที่ 3% ปลอดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในระยะเวลาหนึ่ง (เติมจาก 150,000 ล้านบาทที่ออกไปล็อตแรก)
  2. การคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 2,000-4,000 บาท
  3. สินเชื่อสำหรับแรงงานที่มีประกันตนในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ปลอดเงินต้นและดอกเบี้ยระยะหนึ่ง
  4. ชดเชยเงินแรงงาน พนักงาน ที่หยุดงานจากมาตรการของรัฐที่ไม่อยู่ในประกันสังคม ผู้มีอาชีพอิสระ ในเวลา 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท รวมทั้งการปล่อยกู้ฉุกเฉินอีก 10,000 บาท ดอกเบี้ย 0.1% และกู้ไม่มีค้ำประกัน ได้เพิ่มอีก 50,000 บาทโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
  5. ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานจากวิกฤติโควิด ประกันสังคมจ่าย ร้อยละ 50 เป็นเวลา 6 เดือน

 

มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นก็คือการอัดฉีดบริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านธนาคารพาณิชย์และรัฐบาลโดยการซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมและกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ และจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องให้สามารถขยายอายุให้ตราสารหนี้ระยะสั้นสามารถขยายระยะเวลากู้ออกไปได้ วงเงินกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการ กึ่ง Quantitative Easing ที่หลาย ๆ ประเทศทำกันในช่วงวิกฤติ

 

มาตรการทั้งทางด้านการเงินและการคลังจครั้งนี้ มุ่งเป้าหมายที่จะพยายามป้องกันไม่ให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปิดตัวลงหรือเป็นเอ็นพีแอลซึ่งจะส่งผลต่อการว่างงาน และสำหรับแรงงานหรืออาชีพอิสระที่ต้องว่างงานนั้นอย่างน้อยมีรายได้เพื่อการยังชีพ ในระยะเวลา 3 เดือนนี้ ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อการใช้จ่ายในภาพรวม และถือเป็นเลือดใหม่ให้กับธุรกิจสามารถขายของได้อยู่ และรักษาการจ้างงานบางส่วนต่อไปได้

โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่ามาตรการที่ออกมานั้นค่อนข้างดีและครบถ้วน แต่ความห่วงใยก็คือ ตอนนำลงไปในภาคปฏิบัติเช่นมาตรการเติมเงินในอัตราดอกเบี้ยสุดต่ำให้กับแรงงานผู้เอาประกันตนและได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐ หรือ การปล่อยสินเชื่อ การชะลอการชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์ กับการเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ยังมีกติกาผ่อนปรนขนาดไหน หรือการพิจารณาอย่างไรว่าใคร วิสาหกิจรายไหนที่ได้รับผลกระทบ หรือการจะได้เงินนั้นจะต้องมีเงื่อนไขอย่างไร ผมกลัวช้าและยุ่งยากเกินไป จนทำให้ช้าไม่ทันการณ์ เพราะบ่อยครั้งที่ผ่านมามาตรการหลายอย่างของรัฐนั้นดี แต่ไม่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติหรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ผู้กำหนดนโยบายคาดหวังไว้ เพราะเป็นของใหม่ที่ไม่มีในระเบียบ กฎ กติกาปัจจุบัน ทำให้การปฏิบัติการล่าช้า และคนปฏิบัติงานก็ รี ๆ รอ ๆ ไม่กล้าทำเต็มที เพราะทุกคนก็ไม่อยากมีปัญหา ผู้บริหารในส่วนที่เกี่ยวข้องก็ต้องกำชับ ทำความเข้าใจ และขันนอตในระดับการปฏิบัติการกันเป็นพิเศษหน่อย