‘หมอบุญ’  พลิก"ธนบุรี1-บางซื่อ"รับผู้ติดเชื้อโควิด

04 เม.ย. 2563 | 23:30 น.

โควิดระบาดแรง-เร็วเกินคาด “หมอบุญ” นำทัพธนบุรีเฮลท์แคร์ พลิก ร.พ.ธนบุรี 1-บางซื่อ ทำห้องไอซียู-ความดันลบฆ่าเชื้อโควิด ไม่ให้กลับมาระบาด ยกเลิกโรงพยาบาลสนาม ย่านพระนั่งเกล้า รับรุนแรงกว่าที่คาด

แม้รัฐบาลยังไม่ประกาศให้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 แต่ปัจจุบันกลับพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสลุกลามรุนแรง กระจายตัวทั่วประเทศ สะท้อนข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม มีผู้ติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศ เพียง 50 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหาย 33 ราย

 

ทั้งนี้มีการประเมินกันว่า ช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานเกือบ 40 เท่า หรือ 39.56 เท่า (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน) พบผู้ติดเชื้อมากถึง 1,978 ราย เสียชีวิต 19 ราย และ มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นโดยอ้างอิงจาก กระทรวงสาธารณสุขที่พบยอดผู้ติดเชื้อแต่ละวันไม่ตํ่ากว่า 100 ราย แม้จะรักษาหายแล้วกว่า 500 ราย

 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เชื้อนี้จะไม่กลับมาใหม่ ขณะรัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน หน่วยงานราชการ ขอใช้สถานที่โรงพยาบาลและโรงแรม จำนวน 10,000 หน่วย เป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วย

 

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความไม่พร้อมของบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ที่รักษาโรคนี้โดยตรงแต่เป็นที่น่าชื่นชมแพทย์และพยาบาลไทยที่สามารถรักษาผู้ป่วย จนกระทั่งหาย อีกทั้งความร่วมมือแต่ละจังหวัด ตลอดจนประชาชนต่างช่วยชะลอการระบาดด้วยมาตรการต่างๆ หลังจุดพลิกผันมาจาก “สนามมวย”

 

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการคาดการณ์ ช่วงเดือนกรกฎาคม จะพบผู้ติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 มากที่สุด แต่ปรากฏว่าขณะนี้เกิดการระบาดรุนแรงและรวดเร็ว ดังนั้น โรงพยาบาลธนบุรี ได้ปรับแผนรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ใหม่ โดยจัดเตรียมพื้นที่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือไอซียูจำนวน 70 ห้อง

 

ประกอบด้วย โรงพยาบาลธนบุรี 1 ถนนอิสรภาพ บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จำนวน 40 ห้อง รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยฆ่าเชื้อไวรัสแบคทีเรีย ห้องทำลายเชื้อความดันลบ ไม่ให้เชื้อหมุนเวียนกลับเข้าปอด หรือแพร่ระบาดภายในโรงพยาบาล ล่าสุดแล้วเสร็จ 20 ห้อง

 

นพ.บุญ  วนาสิน

 

โดยแยกอาคารออกจากโซนรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วไป ขณะเดียวกันยังเปลี่ยนแปลง อาคารทำเลบางซื่อ ถนนกำแพงเพชร เนื้อที่ 3 ไร่เดิม เตรียมพัฒนาเป็นจุดคัดกรองผู้ติดเชื้อ ปัจจุบันปรับเป็นโรงพยาบาลฉุกเฉิน ไอซียู รับผู้ป่วยโควิดรุนแรงอีกจำนวน 30 เตียง พร้อมอุปกรณ์ทำลายเชื้อที่ทันสมัย

 

‘หมอบุญ’  พลิก"ธนบุรี1-บางซื่อ"รับผู้ติดเชื้อโควิด

ขณะโรงพยาบาลสนาม มี 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ปลายถนน โรงพยาบาลธนบุรี 1 จำนวน 70 ห้อง และ โซนอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ทำเลประชาอุทิศ จำนวน 200 ห้อง ที่พร้อมให้บริการ

 

‘หมอบุญ’  พลิก"ธนบุรี1-บางซื่อ"รับผู้ติดเชื้อโควิด

 

หมอบุญ สะท้อนต่อว่า นอกจากโรงพยาบาลฉุกเฉิน และโรงพยาบาลสนามแล้ว ยังนำ คอนโดมิเนียม ภายในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้  รังสิต  เกือบ 700 หน่วย ปรับเป็น เซฟตี้โซน ป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากโควิด สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุราว 80 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัวรุนแรง อย่างเบาหวาน ความดัน ปอด ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้บุตรหลานได้คลายความวิตกกังวลลงได้

 

‘หมอบุญ’  พลิก"ธนบุรี1-บางซื่อ"รับผู้ติดเชื้อโควิด

สำหรับคำถามที่ว่า เมื่อใดการแพร่ระบาดจะหมดไป หมอบุญ ระบุว่าการระบาดจะยุติลงได้ยาก เพราะกลายเป็นเรื้อรัง เพียงแต่ต้องรอให้ไวรัสตัวนี้อ่อนแรงลงกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดา โดยมีวัคซีนรักษา ขณะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ทีมแพทย์ไม่ทันตั้งรับ อย่างชุดอวกาศ มีข้อจำกัด

 

โดยเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่ต้องการเครื่องสเตอร์ไรด์ หรือ STR ทำลายเชื้อในอากาศ ห้องความดันลบเพิ่มขณะห้องฉุกเฉิน หรือไอซียู ทั่วประเทศมีเพียง 8,000 ห้อง แต่มีห้องฆ่าเชื้อไวรัสห้องความดันลบเพียง 200 ห้อง เชื่อว่า ไม่น่าเพียงพอกับผู้ติดเชื้อ

 

ตัวแปรที่ทำให้เชื้อโควิดแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วมีจุดพลิกผันมาจากสนามมวยลุมพินี ที่มีผู้ชมนับ 10,000 คน และประชาชนเดินทางกลับ ภูมิลำเนาภายหลังจากกรุงเทพมหานครมีคำสั่งปิดห้าง สถานบริการ ร้านค้าต่างๆ ส่งผลให้เชื้อแพร่กระจาย

 

อย่างไรก็ตามในฐานะแพทย์ มองว่าหากรัฐบาลปฏิบัติการเด็ดขาดเหมือนอู่ฮั่น ประเทศจีน คุมให้อยู่แค่กรุงเทพฯ ผลกระทบจะไม่รุนแรง แต่รัฐบาลใช้มาตรการผ่อนปรนตามแบบประเทศอิตาลี กับสหรัฐอเมริกา และเพิ่งจะมายกระดับในระยะนี้ แต่การติดเชื้อก็ขยายไปไกลแล้ว

 

“ยอมรับว่า โควิด-19 แพร่เร็วจากเดิมเคยคาดการณ์ว่าระบาดมากที่สุดกรกฎาคม แต่ขณะนี้เกิดขึ้นแล้ว จึงต้องปรับแผนรับมือด่วน”

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5-8 เมษายน 2563