3 แนวทางเร่งด่วนช่วยเอสเอ็มอีสู้โควิด-19

03 เม.ย. 2563 | 04:14 น.

“กลุ่มกล้า”เสนอ 3 แนวทางเร่งด่วน ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 2 ล้านรายได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ระบาด

3 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ทีมเศรษฐกิจกลุ่มกล้า ประชุมหารือและรับฟังข้อเดือดร้อนจากผู้ประกอบการ SME ตลอดช่วงวิกฤติไวรัส Covid-19 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการนับล้านราย เดือดร้อนหนักจากวิกฤติไวรัสที่มีทั้งมาตรการสั่งปิดห้างร้าน และการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร หรือมาตรการ work from home ที่ทำให้ลูกค้าประชาชน งดการออกมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติ

 

ผู้ประกอบการเหล่านี้ จึงประสบปัญหารายได้หดตัวอย่างรุนแรง แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการยังคงเดิม โดยเฉพาะ 3 ค่าใช้จ่ายหลัก ไม่ว่าเงินเดือนพนักงาน การผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือค่าเช่าหน้าร้านสถานประกอบการทั้งหลาย ส่งผลให้ขาดเงินสดหมุนเวียนและขาดทุนขนาดหนัก

 

ทีมเศรษฐกิจกลุ่มกล้า จึงขอเสนอ 3 มาตรการด่วนในการช่วย SMEs รายย่อยที่มีกว่า 2 ล้านราย ดังนี้

1.รัฐบาลควรจะรับภาระช่วยจ่ายเงินเดือนลูกจ้างของธุรกิจ SMEs คนละ 6,000 บาท รวมไปถึงการจ่ายค่าประกันสังคมให้กับนายจ้างและลูกจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดปัญหาการเลิกจ้าง ไม่ให้พนักงานหลายล้านคนต้องตกงานเพราะนายจ้างไม่มีกำลังในการจ่ายเงินเดือน

 

2.รัฐบาลควรจะมีมาตรการ พักต้นพักดอกให้กับผู้ประกอบการ SMEs และจ่ายดอกเบี้ยแทน ผู้ประกอบการรายละไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน

 

ทั้งนี้ การชดเชยดอกเบี้ยเดือนละหมื่นบาท คิดจากค่าเฉลี่ยที่ผู้ประกอบการ SMEs มีหนี้สินธนาคารอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านบาท และมีภาระอัตราดอกเบี้ย ที่ 7% ต่อปี รายไหนที่มีหนี้สินมากกว่า 1.8 ล้านบาท ก็จะได้รับชดเชยจำกัดที่ไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนรายที่มีหนี้สินน้อยกว่า 1.8 ล้านบาท รัฐจะจ่ายดอกเบี้ยชดเชยต่อเดือนตามจริงเท่านั้น

 

3.รัฐบาลควรจะมีมาตรการงดเก็บค่าเช่าหน้าร้าน สถานประกอบการให้กับผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยอัตราค่าเช่าที่จะงดเก็บนั้นสูงสุดไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือนต่อราย สำหรับรายที่มีค่าเช่าไม่ถึง 1 หมื่นบาท ให้งดจ่ายตามอัตราค่าเช่าจริง

โดยเจ้าของผู้ให้เช่า สามารถนำเงินค่าเช่าที่งดเก็บค่าเช่าจากผู้ประกอบการ มาขอหักลดหย่อนภาษีได้ในภายหลัง

มาตรการเร่งด่วน ที่ช่วย SMEs มากกว่า 2 ล้านรายนี้ จะช่วยต่ออายุและแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถประคองธุรกิจจนผ่านพ้นวิกฤติ โดยไม่ต้องปิดกิจการ หรือปลดคนงานนับล้านคน อันจะส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมหาศาล

 

ส่วนมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเจ็บหนัก 24 ล้านคน ตลอดจนแหล่งเงินที่รัฐจะใช้ช่องทางทางการคลังมาช่วยนั้น ทางกลุ่มกล้าและคุณกรณ์ จาติกวณิช ได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว

 

วันนี้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กว่า 2 ล้านรายถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รีรอไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในพื้นฐาน และถ้ารัฐไม่ช่วยจะมีคนตกงานหลายล้านคนทันที

 

ถ้าความช่วยเหลือล่าช้า หรือไม่เพียงพอจนธุรกิจ SMEs ต่างๆ ต้องปิดตัวลง การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมของประเทศเราจะต้องใช้เงินและเวลามากกว่านี้อีกหลายเท่า จึงจะแก้ปัญหาได้ครับ

 

3 แนวทางเร่งด่วนช่วยเอสเอ็มอีสู้โควิด-19