‘สำรอง’หรือ‘กักตุน’ 3 องค์กรหลักเตือนโลกเผชิญ ‘วิกฤติอาหาร’

05 เม.ย. 2563 | 01:00 น.

องค์กรใหญ่ระหว่าง ประเทศอย่าง FAO-WHO-WTO ออกโรงแสดงความห่วงกังวล และเตือนว่าท่ามกลางมาตรการคุมเข้มที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โลกอาจประสบภาวะขาดแคลนอาหารเนื่องจากบางประเทศเริ่มห้ามการส่งออกสินค้าอาหารและโภคภัณฑ์บางอย่างแล้ว เพื่อสำรองไว้ใช้ภายในประเทศในยามฉุกเฉิน

 

องค์กรระหว่างประเทศชั้นนำของโลก ได้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงความห่วงกังวลว่าประชาคมโลกอาจจะต้องประสบภาวะขาดแคลนอาหารจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กระทบกับห่วงโซ่การผลิตอาหาร เช่น มาตรการเข้มงวดการส่งออกอาหารในประเทศผู้ผลิต และมาตรการปิดพรมแดนที่ทำให้การขนส่งอาหารข้ามประเทศประสบความยากลำบาก

 

‘สำรอง’หรือ‘กักตุน’ 3 องค์กรหลักเตือนโลกเผชิญ ‘วิกฤติอาหาร’

 

นอกจากนี้ ภาคการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะงักงัน จนทำให้ประชาชนในหลายประเทศไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหาร กระทบความเป็นอยู่และความมั่นคงในชีวิต ผู้บริหารของทั้งสามองค์กรข้างต้นเห็นพ้องว่าจะต้องมีการร่วมมือกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกระมัดระวังการใช้มาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการส่งออกและการขนส่งสินค้าอาหาร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประเทศอื่นๆ ด้วย

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 921,924 รายในปัจจุบัน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 46,252 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (สถิติ ณ วันที่ 2 เม.ย. 63 ของศูนย์ข้อมูลไวรัสโคโรนา มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อปกินส์) ดร. เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินสถานการณ์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกจะถึง 1,000,000 รายอย่างแน่นอน และ ยอดผู้เสียชีวิตจะทะลุ 50,000 รายภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้

มาตรการ “ล็อกดาวน์” เพื่อควบคุมพื้นที่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้มีผลต่อ 1 ใน 5 ของประชากรโลก มาตรการดังกล่าวก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและมีการซื้อสินค้าที่จำเป็นกักตุนไว้ใช้ในครัวเรือน เพราะไม่มีใครรู้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศจะถูกขยายเวลาต่อไปอีกหรือไม่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ได้ลดน้อยลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อความไม่แน่นอนเกิดขึ้นเช่นนี้ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ต้องอีกนานแค่ไหนสถานการณ์จะดีขึ้นและผู้คนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ตราบนั้นหลายประเทศ ก็จำเป็นต้องนำ “มาตรการสำรอง” มาใช้เพื่อฝ่าภาวะความยากลำบากไปให้ได้โดยประชาชน ในประเทศไม่เดือดร้อนมากนัก

 

‘สำรอง’หรือ‘กักตุน’ 3 องค์กรหลักเตือนโลกเผชิญ ‘วิกฤติอาหาร’

 

“ถ้าประเทศผู้ส่งออกหลักๆ เริ่มกักเก็บผลผลิตข้าวและธัญพืชอื่นๆ เพื่อสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ประเทศผู้ซื้อก็จะเริ่มวิตกกังวลแล้ว มันเป็นภาวะความตื่นตระหนกที่ไม่อยู่บนหลักเหตุและผล เพราะอันที่จริง โลกเรามีปริมาณอาหารที่เพียงพออยู่แล้ว” ฟิน ซีเบล นักวิเคราะห์ธุรกิจการเกษตรจากธนาคารกลางออสเตรเลียให้ความเห็น ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดคือ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และคาซัคสถาน ผู้ส่งออก ข้าวสาลีอันดับ 9 ของโลก ได้พิจารณาจำกัดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตรดังกล่าวแล้ว โดยอ้างว่าเพื่อให้มั่นใจในแง่ความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ และเช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศอินเดีย ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ซึ่งเพิ่งประกาศใช้มาตรการล๊อคดาวน์ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 สัปดาห์ มีผลทำให้เกิดภาวะชะงักงันด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ไปทั้งระบบ

 

นอกจากนี้ ก็ยังมีรัสเซียและมาเลเซีย (ดังข้อมูลประกอบด้านล่าง) ผู้ส่งออกนํ้ามันจากพืช ที่กำลังออกมาร่วมกระแสห้ามการส่งออก ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับว่าย้อนแย้งกับความต้องการของประเทศในฝั่งผู้นำเข้า เช่นอิรัก ที่ออกมาประกาศว่าต้องการนำเข้าอาหารเพิ่มเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีหรือข้าว เนื่องจากมีความจำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อสำรองไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้บรรดาผู้ค้าสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตรเริ่มแสดงความวิตกกังวลใจ ว่าขณะนี้กำลังเกิดการบิดเบือนอุปทานอาหารโลกโดยไม่มีเหตุอันจำเป็น

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาชี้ว่า ปริมาณ การผลิตข้าวและข้าวสาลีจากทั่วโลกรวมกันนั้น น่าจะอยู่ที่ระดับ 1,260 ล้านตันในปีนี้ (2563) ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขประมาณการณ์ที่ สูง และเชื่อว่าจะมากเกินปริมาณ ของอุปสงค์ แต่การประมาณการณ์ดังกล่าวก็ตั้งอยู่บนฐานของสภาวะปกติ ไม่ได้ประเมินรวมถึงผลกระทบจากภาวะโรคระบาดโควิด-19 แต่อย่างใด

 

‘สำรอง’หรือ‘กักตุน’ 3 องค์กรหลักเตือนโลกเผชิญ ‘วิกฤติอาหาร’

 

มาตรการห้ามและลดการส่งออกของหลายประเทศในขณะนี้ ยังส่งผลให้สินค้ามีราคาขยับสูงขึ้นด้วย ยกตัวอย่างราคาข้าวขาวในเอเชีย ราคาอ้างอิงในประเทศไทยเวลานี้ขยับสูงขึ้นสู่ระดับ 492.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งนับว่าเป็นระดับราคาสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา (ในปีดังกล่าวเกิดวิกฤติด้านอาหาร หลายประเทศจำกัดหรือระงับการส่งออกข้าว ทำให้ราคาข้าวขาวทะยานขึ้นแตะระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนราคาข้าวสาลี ซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาดชิคาโกนั้น ขยับสูงขึ้นแล้วเกือบๆ 10%ในเดือนมีนาคม

 

“เราคงไม่ได้เห็นประวัติศาสตร์ซํ้ารอยเหมือนเมื่อปี 2551 อีก เพราะอันที่จริงแล้วโลกเรามีปริมาณข้าวมากพอ โดยเฉพาะในอินเดียที่มีปริมาณข้าวสำรองในประเทศสูงมาก” ผู้ค้าข้าวในสิงคโปร์รายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามให้ความเห็น

 

ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณข้าวทั่วโลกในปีนี้จะสูงเกินระดับ 180 ล้านตันเป็นครั้งแรก หรือเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับฤดูกาลผลิตปี 2558-2559 แต่ปัญหาก็คือ ปริมาณข้าวที่มีอยู่มากมายนี้ไม่ได้ถูกกระจายออกไปอย่างเหมาะสม ทั้งนี้คาดว่า ในจำนวนดังกล่าว กว่า 153 ล้านตันกระจุกอยู่ในครอบครองของ 2 ประเทศคือ จีนและอินเดีย นั่นหมาย ความว่า หากมาตรการระงับหรือจำกัดการส่งออกของบางประเทศกินเวลายืดเยื้อยาวนาน (ซึ่งเป็นไปตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ไวรัสโควิด-19) ประเทศผู้นำเข้าหลักๆ เช่น ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชียและแอฟริกา อาจจะต้องพบกับความ ยากลำบากเกี่ยวกับอุปทานอาหารอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563

‘สำรอง’หรือ‘กักตุน’ 3 องค์กรหลักเตือนโลกเผชิญ ‘วิกฤติอาหาร’