“รังสิมา” แนะโอนงบ 35กมธ.ดูงานตปท.200 ล้าน ช่วยแพทย์

02 เม.ย. 2563 | 08:47 น.

“กมธ.สวัสดิการสังคม” ผุดไอเดีย โอนงบกว่า200 ล้านบาท ของ35กมธ.ฯ ช่วยกู้วิกฤตโควิด

 

  น.ส.รังสิมา รอดรัศมี

วันที่ 2 เมษายน 2563    น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.มีหนังสือสอบถามไปยังนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อการใช้งบประมาณที่จัดสรรให้กับกมธ.ฯ 35 คณะเพื่อศึกษาดูงานต่างประเทศ คณะละประมาณ 4.8 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 168 ล้านบาท และศึกษาดูงานในประเทศ คณะละประมาณ 9 แสนบาท  รวมเป็นเงินประมาณ 31.5  ล้านบาท และเมื่อรวมงบประมาณ 2 ส่วนดังกล่าวรวมกันจะได้เงินประมาณ 199.5 ล้านบาท เพื่อดำเนินการช่วยเหลือทางการแพทย์ในการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19

 

 อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนงบประมาณดังกล่าวตามกฎหมายไม่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ เพราะอาจถูกมองว่าใช้เงินผิดประเภทหรือวัตถุประสงค์ได้ จึงต้องสอบถามไปยังหน่วยงานของรัฐสภา ว่าจะผ่อนปรนกติกาได้อย่างไรหรือไม่ เพราะกมธ.ฯ มองว่าขณะนี้ควรระดมทุกกำลังเพื่อช่วยเหลือราชการให้ฝ่าวิกฤตไวรัสดังกล่าวไปให้ได้


 

นอกจกากนั้นได้เตรียมส่งเป็นหนังสือไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายประเด็น คือ 1. ขยายกลุ่มเป้าหมายตามมาตรการแจกเงินให้กับผู้ว่างงาน เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ให้เป็นผู้ประกอบกิจการ ผู้ค้า เช่น ผู้ส่งสินค้า, ผู้ค้าอาหารสด, ผู้ค้าในตลาดสด ที่พบว่าได้รับผลกระทบในวิกฤตดังกล่าวโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และให้ใช้วิธีจัดสรรเงิน ตามหมายเลขบนบัตรประชาชน โดยไม่ต้องลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ตที่พบว่าคนต่างจังหวัดที่ไม่มีอุปกรณ์ไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนได้ ทั้งนี้ในมาตรการที่ขยายดังกล่าวต้องกำหนดคุณสมบัติผู้ที่ไม่ควรได้รับเงินช่วยเหลือ เช่น นักการเมือง, ข้าราชการ, บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีบิดา-มารดาคอยดูแล 

 

น.ส.รังสิมา กล่าวด้วยว่า 2. กรณีที่หลายพื้นที่เตรียมประกาศกฎหมายห้ามประชาชนออกจากบ้านช่วงกลางดึก ควรผ่อนปรนให้กับบุคคลที่มีความจำเป็นต้องออกบ้านในช่วงห้ามออก เพื่อบรรเทาผลกระทบทางกฎหมาย เช่น ผู้ประกอบการร้านค้าที่ต้องซื้อหาวัตถุดิบในตลาดสด ตั้งแต่เวลา 01.00 น. เป็นต้น,3. ปัญหาของมิจฉาชีพ ลักขโมย ที่อาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเลิกจ้าง, ขอให้นายกฯ สั่งการไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เน้นการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด 


 

4.เสนอให้รัฐบาลทำถุงยังชีพแจกให้ประชาชนช่วงต้องพักอยู่บ้าน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำปลา ซึ่งรัฐบาลอาจรับซื้อจากชาวนา, ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นหนทางที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางช่วยเหลือทั้งประชาชนที่ไม่สามารถซื้อสินค้า ช่วยที่ต้องพักอยู่บ้าน และผู้ประกอบการภาคขนส่งที่ไม่สามารถถ่ายสินค้าไปยังชุมชนต่างๆ ได้ 

 

นอกจากนั้นในมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล กมธ.ฯ เตรียมเสนอ 2 ประเด็น คือ หน่วยงานของรัฐที่จัดสรรพื้นที่เช่าขายให้ประชาชน เช่น การเคหะแห่งชาติ, กทม.ขอให้พิจารณาชะลอการเก็บค่าเช่าแผงค้า 90 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ และ ขอความอนุเคราะห์ไปยังธนาคารของเอกชน ให้ดำเนินการช่วยเหลือพักชำระหนี้ของประชาชน ทั้งส่วนต้นและดอกเบี้ย เหมือนกับธนาคารของรัฐดำเนินการ เพื่อเป็นช่องทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนช่วงวิกฤตโควิดระบาดอย่างหนัก