COVID-19 ทำห่วงโซ่อุปทานทองคำทั่วโลกชะงัก

04 เม.ย. 2563 | 06:45 น.

การระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่เพียงแต่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน หน้าที่การงาน ตลาดเงินและตลาดทุนเท่านั้น แต่ยังทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก จากการประกาศ Lockdown ในหลายประเทศ เพื่อยับยั้งการระบาด ซึ่งก่อให้เกิดการคาดการณ์มากขึ้นว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก อัตราการว่างงานจะทะยานขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

 

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้เหล่าธนาคารกลางรวมไปถึงรัฐบาลในประเทศต่างๆ เร่งดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งด้านการเงินและการคลัง เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้คนในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 2 ครั้งในปีนี้มากถึง 1.5% สู่ระดับ 0.00-0.25% และเฟดยังประกาศมาตรการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)ในวงเงินUnlimited : ไม่จำกัดด้านรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เร่งผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจจากผลกระทบของ COVID-19

แม้สถานการณ์ดังกล่าวจะกดดันให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่า จนเป็นปัจจัยหลักดันให้ราคาทองคำทะยานขึ้น จากระดับตํ่าสุดบริเวณ 1,451 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขึ้นมาเคลื่อนไหวเหนือ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง  แต่ตลาดทองคำทั่วโลกเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบที่คนซึ่งอยู่ในวงการทองคำมาตลอด 50 ปีกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือความท้าทายที่สุดของอุตสาหกรรมทองคำทั่วโลกเลยทีเดียว

 

ผลกระทบที่ว่า มีสาเหตุหลักจากห่วงโซ่อุปทาน(Supply)ทองคำทั่วโลกหยุดชะงัก จากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ระบบโลจิสติกส์หยุดชะงัก กระทบการขนส่งทองคำ ไม่เพียงเท่านั้น Valcambi, Pamp และ Argor-Heraeus โรงสกัดทอง(refineries) รายใหญ่ที่อยู่ในเมือง Ticino ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนอิตาลี ผลิตทองคำราว 1,500 ตันต่อปี หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ถูกสั่งระงับการผลิตชั่วคราว เพื่อยับยั้งการระบาด COVID-19 โดย Valcambi, Pamp ระงับการผลิตจนถึงวันที่ 29 มีนาคม ด้าน Argor-Heraeus จะระงับการผลิตถึงวันที่ 5 เมษายน 

 

COVID-19  ทำห่วงโซ่อุปทานทองคำทั่วโลกชะงัก

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ต้นทุนการขนส่ง และต้นทุนการสกัดทองคำเพิ่มสูงขึ้น จึงสะท้อนมาในราคาสัญญา Exchange of Futures for Physical(EFP) ซึ่งเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนระหว่างสัญญาฟิวเจอร์ส กับ ทองคำกายภาพ (Physical Gold) ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกำหนดราคาทองคำในตลาด OTC ทำให้ราคาสัญญา EFP พุ่งสูงขึ้นจากระดับปกติที่ 2 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลต่อเนื่องให้ธนาคารต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ถือสถานะขาย (Short Positions) ในสัญญา EFP “จำเป็นต้องปิดสถานะด้วยการซื้อสัญญาฟิวเจอร์ส ควบคู่ไปกับการขายทองคำกายภาพ (Physical Gold) จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ส่วนต่าง(Spread) ระหว่างสัญญาฟิวเจอร์สทองคำตลาด COMEX กับ Gold Spot กว้างขึ้นจากระดับปกติ ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นกระทบต่อเนื่องไปยังส่วนต่างราคาเสนอซื้อ เสนอขายในตลาด Gold Spot อีกด้วย

ดังนั้น เมื่อส่วนต่างการซื้อขายของราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลให้ส่วนต่างราคาซื้อขายของราคาทองคำในประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเรียกได้ว่าการระบาดของ COVID-19 กระทบต่ออุตสาหกรรมทองคำทั่วโลกตั้งแต่ต้นนํ้าคือ ภาคการผลิต ไปจนถึงปลายนํ้าคือผู้บริโภคเลยทีเดียว

 

ดังนั้น YLG จึงแนะนำ ปรับระยะของการลงทุน เช่น เดิมหากเป็นนักลงทุน Day Trade อาจปรับเป้าหมายการลงทุนเป็นระยะสัปดาห์ หากนักลงทุนรับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำรอสถานการณ์ทองคำในตลาดโลกกลับสู่สภาวะปกติแล้วจึงกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทองคำอีกครั้ง ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก รวมไปถึงนักลงทุนระยะกลางและระยะยาว แนะนำรอจังหวะการอ่อนตัวของราคาแล้วจึงเข้าซื้อสะสม ที่สำคัญคือต้องมีวินัย ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จในยามที่ตลาดทองคำทั่วโลกเผชิญความท้าทายในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ครบเครื่องเรื่องทองกับ YLG

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563