ล็อกดาวน์ เบรกขนส่ง  ‘โลจิสติกส์’ ป่วน

03 เม.ย. 2563 | 11:00 น.

โลจิสติกส์ป่วน มาตรการล็อกดาวน์เมือง-ปิดห้างกระทบรถขนส่งสินค้าเบรกให้บริการ หวั่นพิษไวรัสกระจายทั่วประเทศ ลากยาวนาน 6 เดือนส่งผลผู้ประกอบการตายเรียบ

มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งการปิดห้าง ร้านค้า สนามกีฬา ตลอดจนแหล่งชุมนุม และงดการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อ แต่พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้แต่ละจังหวัดต่างเพิ่มมาตรการเข้มข้นจนถึงขั้นต้องประกาศตั้งด่านตรวจควบคุมการเข้า-ออกในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบรวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ด้วย

 

นายวิเชียร กันตถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติคส์ จำกัด บริษัทในเครือสหพัฒน์ ผู้ให้บริการกระจายและขนส่งสินค้าทั่วประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้หลายจังหวัดประกาศปิดเมือง ตรวจเข้มการเข้า-ออก ร้านค้าต่างๆ ปิดให้บริการ เริ่มส่งผลกระทบอย่างหนักทำให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไม่สามารถเข้าไปส่งสินค้าได้ มีเพียงอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิดเท่านั้น

 

“นอกจากการควบคุมการสัญจรเข้า-ออกทำให้รถขนส่งสินค้าไม่สามารถสัญจรได้ การสั่งปิดร้านค้าต่างๆ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องหยุดให้บริการ รถขนส่งทั้งที่เป็นของบริษัทและเอาต์ซอร์ซก็ต้องหยุดไปด้วย ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการ จึงต้องสั่งพักงานพนักงานจำนวนหนึ่ง”

 

อย่างไรก็ดีแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การปรับลดเวลาการทำงาน ลดเงินเดือนลง รวมถึงการปรับเปลี่ยนงานให้ไปช่วยในแผนกอื่นแทน ผนวกกับมาตรการเยียวยาของภาครัฐออกมาช่วยเหลือในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ต้องขอบคุณมาก และเชื่อว่าจะทำให้องค์กรสามารถพยุงให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ในระยะหนึ่ง แต่หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังยืดเยื้อยาวนานย่อมส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

“สินค้าหลายชนิด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า แฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องหนัง ต้องปิดร้านงดขายสินค้าชั่วคราว รถขนส่งก็ต้องหยุดตามไปด้วยเกือบทั้งหมด เหลือเพียงกลุ่มที่จัดส่งสินค้าคอนซูเมอร์ และอาหารเท่านั้น ทำให้บริษัทต้องปรับแผนและหาแนวทางในการช่วยเหลือพนักงาน อาจจะให้พักงานแต่บริษัทยังจ่ายเงินเดือน 50% ผนวกกับเงินเยียวยาของรัฐบาลอีก 5,000 บาท เชื่อว่าหลายคนอยู่ได้ และเปิดโอกาสให้พนักงานไปรับงานอื่น เช่น ส่งอาหาร ฯลฯ ก็มีรายได้เพิ่มอีกช่องทาง”

 

ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบถึงรถหัวลาก รถเทรเลอร์ขนาดใหญ่ ที่ต้องขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ สินค้านำเข้า ซึ่งวันนี้พบว่า ต้องหยุดชะงักจอดทิ้งไว้จำนวนมาก เพราะไม่มีสินค้านำเข้าให้ขนส่ง อย่างไรก็ดีหากไวรัสโควิด-19 ยังวิกฤติต่อเนื่องในช่วง 1-2 เดือนเชื่อว่าองค์กรต่างๆ ยังแบกรับไว้ อาจจะทำให้ธุรกิจไม่มีกำไร ตัวเลขรายได้ไม่เข้าเป้า ไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนในปลายปี แต่ธุรกิจยังพอเดินหน้าต่อได้ เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ แต่หากยืดเยื้อนานถึง 6 เดือนเชื่อว่าหลายธุรกิจต้องปิดกิจการไปอย่างแน่นอน

 

“วันนี้ไทเกอร์มีพนักงานกว่า 170 คน เป็นพนักงานออฟฟิศและคลังสินค้ากว่า 100 คน พนักงานขนส่งราว 50 คน ส่งสินค้าเองใน 46 จังหวัด ส่วนที่เหลือเป็นการเอาต์ซอร์ซ เมื่องานขนส่งไม่มีมากเท่าเดิม ก็ต้องปรับแผนรองรับโดยเน้นที่พนักงานก่อน แม้ในช่วงนี้จะไม่มีรายได้เข้ามา แต่ก็ยอมนำกำไรที่เคยได้มาใช้จ่าย ขณะเดียวกันหากเป็นสินค้าประเภทยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จัดส่งให้โรงพยาบาล หรือมีผู้บริจาคให้กับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐ เราก็จัดส่งให้ฟรี เพราะเป็นการช่วยเหลือสังคม”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563