CIMBT ปรับเป้าจีดีพีไทยปี 63 เป็นหดตัว 6.4%

31 มี.ค. 2563 | 11:49 น.

CIMBT ปรับเป้าจีดีพีปี 63 เป็นหดตัว6.4% จากผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด คาดเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2

.

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT )เปิดเผยว่า สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทยปีนี้จากเดิมขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว 6.4% ตามภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ภาวะการถดถอยนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังแต่หากสถานการณ์เลวร้ายไปอีกเศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะวิกฤติตามเศรษฐกิจโลก เพระาเศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงเติบโตช้าก่อนหน้าไวรัสระบาด จากปัญหาสงครามการค้า ภัยแล้ง และงบประมาณที่ล่าช้า คำถามคือ ไทยอยู่ห่างจากช่วงวิกฤติมากน้อยเพียงไร อยู่เฟสไหนในช่วงวิกฤตินี้ และจะหนีพ้นวิกฤติไปได้อย่างไร

ประเทศไทยอยู่ในเฟส2ของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่การระบาดเข้ามาสู่คนไทยที่ติดต่อผ่านผู้ติดเชื้อต่างชาติ หรือหากติดต่อผ่านคนไทยด้วยกันก็ยังสามารถสืบหาแหล่งที่มาได้ แต่ในอีกไม่ช้าอาจจะเข้าเฟส 3 คือการที่คนไทยติดกันเองในวงกว้างและรวดเร็วโดยไม่ทราบแหล่งที่มา ซึ่งภาคสาธารณสุขกำลังทำงานอย่างเต็มที่ในการยืดเวลาการเข้าสู่เฟส 3 แต่หากเทียบการระบาดทางเศรษฐกิจ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่เฟส 3 ไปเรียบร้อยแล้ว

เฟส 1 การระบาดไวรัสในประเทศจีนกระทบภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการผลิต จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัวมากกว่าครึ่ง ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอลงแรงมีผลให้ภาคการส่งออกไทยหดตัวตามอุปสงค์ที่ลดลง นอกจากนี้ การที่จีนสั่งปิดโรงงานและภาคธุรกิจมีผลให้ไทยขาดวัตถุดิบสำคัญที่มาจากจีน จนมีผลให้ภาคการผลิตของไทยที่ชะลอตามการส่งออกที่หดตัวอยู่แล้วกลับย่ำแย่อีกเพราะต้องลดกำลังการผลิตตามการขาดแคลนวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรม

เฟส 2 ต่อมาเมื่อการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19เข้ามาในประเทศไทย เราได้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เฟสที่ 2 คือ กระทบผ่านภาคการบริโภคที่ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นเริ่มลดลงต่อเนื่อง การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคเริ่มลดลง ยอดการค้าปลีกมีแนวโน้มชะลอลงตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอ คนเริ่มระมัดระวังการออกนอกบ้าน และล่าสุดมีการประกาศของหน่วยงานราชการในหลายจังหวัดที่ขอความร่วมมือผู้คนออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น และปิดสถานบริการหลายประเภทเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ของเชื้อไวรัส มีผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนชะลอลงแรงหรือหดตัวได้ในบางประเภท

เฟส 3 เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่เฟส 3 ของการแพร่เชื้อไวรัสไปบ้างแล้วผ่านตลาดการเงินที่เริ่มติดเชื้อ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีแรงเทขายหนัก ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกหดหาย มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภทเพื่อนำเงินสดกลับไปถือในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่นักลงทุนกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องในสหรัฐฯ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าธุรกิจสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และน้ำมันอาจมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น นักลงทุนเทขายตราสารหนี้ รวมไปถึงตราสารหนี้ที่แทบจะเรียกว่าปลอดภัยที่สุดในโลกนั่นคือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯส่งผลให้ราคาพันธบัตรลดลงหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น และไม่เพียงสหรัฐฯ เท่านั้น ภาวะความแตกตื่นนี้ลามไปทั่วโลกรวมทั้งไทย ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับหลายภาคส่วนได้ออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยพยุงความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ 

นอกจากนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% ต่อปี เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบ ซึ่งในภาวะเช่นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเฟส 3 เท่านั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ทางกนง. จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 นี้เหลือ 0.50% ต่อปี โดยที่ภาครัฐได้ออกมาตรการพยุงสภาพคล่องและมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่อง ช่วยยืดเวลาให้เราอยู่ในช่วงต้นของเฟส 3 นานขึ้น โดยเฉพาะหลังตลาดพันธบัตรเริ่มอยู่ในภาวะที่บริหารจัดการได้ นักลงทุนหายตกใจ

อย่างไรก็ดี ความเสียหายทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต การบริโภค และความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนนั้นมีมาก เศรษฐกิจไทยจึงอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีนี้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่จุดต่ำสุดช่วงไตรมาสที่ 2 ทางกนง. น่าจะใช้นโยบายอื่นควบคู่กับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการดูแลสภาพคล่อง ซึ่งมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องนั้นน่าจะมีส่วนช่วยให้เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ จากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องสูง น่าจะลดความน่าสนใจของเงินบาท 

อีกทั้งภาวะความไม่แน่นอนในตลาดโลกน่าจะมีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในทิศทางแข็งค่าเทียบสกุลอื่นๆ เงินบาทน่าจะอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ไปได้ถึงระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ และน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพก่อนกลับมาแข็งค่าได้เล็กน้อยจากการที่ไทยยังเกินดุลการค้าและจากการที่ตลาดการเงินโลกเริ่มคลายความกังวลจากปัญหาสภาพคล่อง คาดปลายปีนี้เงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ