อัดโปรลดค่าบริการ 2ท่าเรือ “แหลมฉบัง-ระนอง”

30 มี.ค. 2563 | 07:01 น.

กทท. ลดค่าบริการท่าเทียบเรือชายฝั่งท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือระนอง 20% และ 60% ตามลำดับ หมดเขต 30 ก.ย. 64 หวังกระตุ้นผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น หนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยของรัฐบาล

 

 

 

 

 

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ปรับลดอัตราค่าภาระยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และลดอัตราค่าธรรมเนียมท่าเรือระนอง (ทรน.) เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการหันมาใช้บริการที่ กทท. เพิ่มขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นด้านราคา และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการในการขนส่งทางน้ำ

 

อัดโปรลดค่าบริการ 2ท่าเรือ “แหลมฉบัง-ระนอง”

สำหรับการปรับลดอัตราค่าภาระยกขนและค่าธรรมเนียมเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ทลฉ. ในอัตรา 20 % ซึ่งอยู่ในกรอบอัตราขั้นต่ำ-ขั้นสูง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 58 นั้น ได้กำหนดอัตราค่าภาระขั้นต่ำจาก 1,545 บาท ปรับใหม่เป็น 1,236 บาท ต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. 63 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 64

อัดโปรลดค่าบริการ 2ท่าเรือ “แหลมฉบัง-ระนอง”

ทั้งนี้ในส่วนของ ทรน. ได้มีการส่งเสริมการขาย โดยลดอัตราค่าธรรมเนียมเฉพาะกลุ่มเรือและตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีส่วนลดแรกให้กับผู้ใช้บริการของ ทรน. สำหรับตู้สินค้าตั้งแต่ 1-1,000 ทีอียู. แบ่งส่วนลดในปีที่ 1-3 มีส่วนลด 60% ปีที่ 4-6 มีส่วนลด 50% ปีที่ 7-10 มีส่วนลด 40% พร้อมทั้งมีส่วนลดเพิ่มเติม (Top up) ในกรณีที่ทำตู้สินค้าเพิ่มได้ตามที่กำหนด คือ 1,001-3,999 ทีอียู. 4,000-5,999 ทีอียู. 6,000-7,999 ทีอียู และ 8,000 ทีอียู.ขึ้นไป ให้ส่วนลดเพิ่มเติม 5 % 10% 15% และ 20 % ตามลำดับ สำหรับค่าธรรมเนียมการใช้ท่า (Berth Fee) เรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ลดเหลือ 6 บาท/100GT/ชม.

 

อย่างไรก็ตามการดำเนินการปรับลดค่าภาระท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ของ ทลฉ. และค่าธรรมเนียมของ ทรน. ดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการตลาดและจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวม ในการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ กทท. มีความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการขนส่งทางน้ำทั้งภายในและต่างประเทศ