CPN ชะลอแผนลงทุน รีไฟแนนซ์หนี้เสริมสภาพคล่อง

29 มี.ค. 2563 | 06:31 น.

CPN ประกาศชะลอแผนการลงทุน  พร้อมรีไฟแนนซ์หนี้เสริมสภาพคล่อง จากภาระหนี้สินที่ครบกำหนดชำระภายในปีนี้  8,865 ล้านบาท


 นางสาว นภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)หรือ CPN แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เรื่องแนวทางการการบริหารจัดการของบริษัทเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 (COVID-19)  โดยระบุว่าบริษัทฯอยู่ระหว่างการทบทวนแผนการลงทุนทั้งหมด  โดยคาดว่าจะชะลอและปรับแผนการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่และการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการเดิมออกไป โดยพิจารณาความจำเป็นในแต่ละโครงการ เพื่อลดภาระด้านการลงทุนในสินทรัพย์ (Capital Expenditure) 

ในสถานการณ์นี้ บริษัทฯให้ความสำคัญในการรักษากระแสเงินสดและเตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่องเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3,055 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อซึ่งยังมิได้เบิกใช้จำนวน 14,213 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่0.37เท่า ซึ่งยังคงอยู่ในระดับเป้าหมายภายในของบริษัทที่ 1 เท่า และต่ำกว่าเงื่อนไขของเงินกู้และหุ้นกู้ที่ระดับ 1.75 เท่า และมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี

ประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน เงินกู้ยืมระยะสั้นจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ทั้งสิ้นจำนวน 8,865 ล้านบาท โดยจากสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทได้เตรียมแผนที่จะรีไฟแนนซ์หนี้สินดังกล่าว ด้วยการใช้เงินกู้ยืมระยะยาว โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่ 2.91% ณ สิ้นปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ  อย่างไรก็ดี บริษัทสามารถกู้เงินระยะสั้นจากสถาบันการเงินเพื่อรองรับความต้องการของสภาพคล่องในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ

ขณะเดียวกัน บริษัทได้เตรียมแผนการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อรายได้และความสามารถในการทำกำไร โดยปรับลดค่าใช้จ่ายแปรผัน (Variable Expense) อาทิ ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายผู้ให้บริการจากภายนอก (Outsource) บางส่วน ตามระดับการปฏิบัติงานที่ลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายการบริหารทั่วไปตามจำนวนพนักงานที่สำนักงานลดลงจากนโยบายให้ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายการเดินทางของพนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

ตลอดจนมีการเจรจากับกับคู่ค้าเพื่อให้การดำเนินงานและเงื่อนไขต่าง ๆ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม