ฟ้าเปิดแล้ว หูเป่ยเริ่มเที่ยวบินในประเทศวันนี้

28 มี.ค. 2563 | 09:16 น.

 

สถานการณ์ที่คลี่คลายเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ทำให้รัฐบาลจีนเตรียมเปิดน่านฟ้ามณฑลหูเป่ย ซึ่งอยู่ภายใต้ปฏิบัติการ “ปิดเมือง” เพื่อคุมเข้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเที่ยวบินแรกภายในประเทศจะเริ่มเปิดบริการอีกครั้งในวันนี้(29 มี.ค.) ขณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ฮั่น เทียนเหอ มีกำหนดจะเปิดให้บริการวันที่ 8 เม.ย.

ฟ้าเปิดแล้ว หูเป่ยเริ่มเที่ยวบินในประเทศวันนี้

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน เปิดเผยว่า ณ วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม จีนพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 54 ราย โดยทั้งหมดเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ โดยไม่พบผู้ติดเชื้อที่เกิดจากการแพร่ระบาดภายในประเทศแต่อย่างใด ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 ราย ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อทั้งหมดในจีนอยู่ที่ 81,394 ราย โดยเป็นยอดรวมผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 649 ราย โดยผู้ติดเชื้อจำนวน 3,128 รายกำลังอยู่ในระหว่างการรักษา ส่วนยอดผู้ที่หายป่วยและได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล มีจำนวน 74,971 ราย

สำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC) เปิดเผยวานนี้ (27 มี.ค.) ว่า มณฑลหูเป่ย ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก โดยเมืองเอกอู่ฮั่น เป็นเมืองแรกที่มีรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว และเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง โดยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินโดยสารภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป ยกเว้นท่าอากาศยานนานาชาติอู่ฮั่น เทียนเหอ ที่จะเริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินในประเทศอีกครั้งในวันที่ 8 เมษายน 2563

ฟ้าเปิดแล้ว หูเป่ยเริ่มเที่ยวบินในประเทศวันนี้

ทั้งนี้ ยังมีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับเที่ยวบินระหว่างประเทศ เที่ยวบินขาไป-ขากลับจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เขตบริหารพิเศษมาเก๊า และเกาะไต้หวัน รวมถึงเที่ยวบินระหว่างหูเป่ยและปักกิ่ง ที่จะยังไม่เปิดให้บริการเนื่องจากรัฐบาลจีนยังเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอื่น ซึ่งหมายรวมถึงคนจีนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศด้วย

 

ส่วนเที่ยวบินขนส่งสินค้าจะกลับมาดำเนินการ ณ สนามบินทุกแห่งในหูเป่ย ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. เช่นกัน โดยจีนมีนโยบายเพิ่มจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับห่วงโซ่อุปทาน