ธปท.ยํ้า พร้อมดูแลกองทุน

29 มี.ค. 2563 | 23:30 น.

นักกลงทุนวิตกผลกระทบไวรัสโควิด-19 เทขายกองทุนรวมตราสารหนี้ ชี้สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ถูกกดดัน แต่คุณภาพยังดี แนะนักลงทุนอย่าตระหนก ทำความเข้าใจ มั่นใจมาตรการแบงก์ชาติเรียกเชื่อมั่นได้ 

 

ความต้องการถือเงินสดของนักลงทุนมีมากขึ้น หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่กระจายไปทั่วโลกและจำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้น ทำให้เกิดการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเกือบ 30% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV)ทั้งที่ “กองทุนรวม” ในอดีตจะเป็นหลุมหลบภัยสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงไม่ได้หรือผิดหวังจากการลงทุนในหุ้น

ทั้งนี้จากความตกใจในกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารต่างๆ ที่มีอัตราผลตอบแทนลดลง ทำให้เกิดการเทขายอย่างหนัก แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) จะออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือกองทุนรวมตราสารหนี้ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนไปเร่งไถ่ถอน แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งแรงเทขายได้จนทำให้บลจ.ทหารไทย อีสท์สปริงฯ ต้องสั่งปิด 4 กองทุน หลังจากยอดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนมีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของแต่ละกองทุนคือกองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน, กองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์, กองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ภาพรวมของกองทุนรวมตราสารหนี้ของไทยมี 64 กองทุน ซึ่งเมื่อรวม 4 กองทุนที่ปิดไปแล้ว เป็นตราสารหนี้ที่มีคุณภาพทั้งนั้น แต่เฉพาะช่วงนี้อาจจะเกิดการขาดสภาพคล่อง ซึ่งการปิดกองทุนของ บลจ.ทหารไทย อีสท์สปริงฯนั้นยืนยันว่า เป็นกองทุนคุณภาพดีและมีลักษณะเฉพาะคือ ลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์เฉพาะ เนื่องจาก 4  กองทุนเน้นลงทุนพันธบัตรอันดับเครดิต น่าลงทุน(Investment Grade)ในต่างประเทศ เกินกว่า 50% และการปิดกองทุนนั้น เป็นอำนาจบริหารของผู้จัดการกองทุน เพื่อตัดสินใจรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน

 

ธปท.ยํ้า  พร้อมดูแลกองทุน

รื่นวดี สุวรรณมงคล

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า การปิดกองทุนตราสารหนี้เป็นผลจากปัญหาสภาพคล่องจากระบบการเงินโลกที่ลามเข้ามาระบบการเงินไทย โดยตราสารหนี้โลกอาจจะมีความตึงตัว สภาพคล่องของดอลลาร์ฟันดิ้งดึงตัวเช่นกัน ซึ่งช่องทางที่มีการไปลงทุนต่างประเทศมากและกองทุนเหล่านี้สามารถไถ่ถอนได้ทุกวัน ถ้าประชาชนไถ่ถอนตราสารหนี้จำนวนมาก กองทุนต้องนำตราสารหนี้ออกเร่ขาย ถ้าตลาดบางมากจะทำให้กองทุนขาดสภาพคล่องทั้งๆ ที่ถือตราสารที่มีคุณภาพดี หากถือตราสารจนครบกำหนดระยะยาวผู้ถือหน่วยลงทุนก็จะไม่ได้รับความเสียหายและได้รับเงินคืนตามสัญญา

“เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่ธปท.ต้องออกมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านแบงก์พาณิชย์ให้สามารถนำตราสารหนี้มาเป็นหลักประกัน เพื่อกู้เงินกับธปท.ส่วนหนึ่งเพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ถือหน่วยลงทุน และต้องการบอกว่า ถ้าผู้ถือหน่วยลงทุนตื่นตระหนกจะบังคับให้กองทุนต้องเร่งขายทรัพย์สินในภาวะที่ตลาดบางมาก ก็จะได้รับเงินในราคาลดลง ซึ่งหากดู NAV ของทีเอ็มบีธนพลัสอยู่ในระดับสูงและเป็นบวก การปิดกองทุนก็เพื่อรักษามูลค่าไว้ให้มากที่สุดและเพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน”

ธปท.ยํ้า  พร้อมดูแลกองทุน

นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า การเทขายหน่วยลงทุนอย่างหนักในกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นมองว่า ขึ้นกับสภาพคล่องของกองทุนนั้นๆ โดยปัจจุบันนักลงทุนมีความกังวลสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ตราสารหนี้บางตัวยังมีคุณภาพดี แค่นักลงทุนบางส่วนตกใจและไม่เข้าใจถึงสถานการณ์ตราสารหนี้ทั้งระบบที่ปัจจุบันอยู่ในระดับตํ่าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มองว่า การประกาศปิดกองทุนนั้น เป็นการสร้างความสมดุลให้กับตลาดทุน เพราะเป็นการช่วยผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายไม่ทัน ให้มีความเป็นธรรมกับผู้ถือหน่วยลงทุนอื่นๆในกองนั้นๆ ซึ่งมีการลงทุนจากหลากหลายกลุ่ม ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นทุกบลจ.และไม่ได้มีในทุกกองทุน จึงแนะนำนักลงทุนว่า หากมีความเข้าใจและทำความเข้าใจอย่างแท้จริง จะเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในกองทุนรวม เพื่อรอการฟื้นตัวของตลาดหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

“การปิดกองทุนของบลจ.แห่งหนึ่ง ถือว่า เป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม เพราะจะทำให้ตลาดเกิดความสมดุล อีกทั้งในความเป็นจริงแล้วการปิดกองทุนไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ในมุมมองของนักลงทุนที่ไม่มีความเข้าใจ เมื่อได้ยินจึงเกิดการตกใจเทขาย และยิ่งขายราคายิ่งลดลง เกิดปัญหาต่อผู้ที่ขายไม่ทัน ส่งผลให้กองทุนต้องตัดสินใจหยุด เพื่อรักษาความเป็นธรรม ดีกว่าปล่อยไว้เรื่อยๆ นอกจากนี้ มองว่าการเทขายอย่างหนักมาจากลักษณะของกองทุนนั้นๆ ที่มีฐานลูกค้าไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะกองทุนที่มีนักลงทุนรายใหญ่ที่ถือหน่วยลงทุนในสัดส่วนสูง เมื่อมีการถอนออกทำให้กระทบหนักแน่นอน”

ขณะที่มาตรการที่ทางการออกมานั้นช่วยเรียกความเชื่อมั่นและคลายกังวลของ
นักลงทุนได้รวมถึงเป็นการต่อท่อนํ้าเลี้ยงให้กับกองทุนด้วย

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2563