หลากมุมมอง การสืบทอด ธุรกิจครอบครัว (1)

02 เม.ย. 2563 | 01:03 น.

บิสิเนส  แบ็กสเตจ

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

([email protected])

 

แม้การสืบทอดกิจการจะเป็นขั้นตอนสำคัญในการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว แต่ครอบครัวจำนวนมากทั่วโลกก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะถ่ายโอนธุรกิจไปสู่ทายาทรุ่นต่อไปได้ จากการสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลกของ Deloitte ในปีค.. 2019 พบว่ามีเพียง 41% ของผู้ถูกสำรวจบอกว่าธุรกิจของตนพร้อมสำหรับอนาคตในเรื่องของการวางแผนสืบทอดกิจการ ขณะที่มากกว่าครึ่งบอกว่ามีความพร้อมในเรื่องความเป็นเจ้าของ การกำกับดูแลหรือกลยุทธ์ ซึ่งจากการสำรวจชี้ว่าการสืบทอดกิจการเป็นความท้าทายที่หลายครอบครัวเห็นว่าน่ากลัวที่สุด

 

ทั้งนี้เมื่อสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดการวางแผนที่เฉพาะเจาะจงถึงขอบเขตของงานที่ต้องทำพบว่า มีเพียง 26% บอกว่ามีแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเอาไว้แล้วและจำนวนน้อยกว่านั้นที่มีแผนสำหรับผู้บริหารระดับสูง (C-suite) อื่นๆ โดย 65% ระบุว่าพวกเขาต้องการส่งต่อความเป็นเจ้าของให้กับทายาทรุ่นต่อไปและภายในกลุ่มนี้ 30 % บอกว่าต้องการรักษาทั้งความเป็นเจ้าของและการบริหารไว้ให้กับครอบครัว อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะนำไปสู่การวางแผนสืบทอดธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับประเพณีวัฒนธรรมและทัศนคติในสังคมนั้นๆ ควรทำความเข้าใจว่าการสืบทอดกิจการได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม นั่นจึงทำให้กระบวนการสำหรับธุรกิจครอบครัวในประเทศหนึ่งแตกต่างจากกระบวนการธุรกิจครอบครัวในอีกประเทศหนึ่งเป็นอย่างมาก

 

ดังนั้นปัญหาการสืบทอดกิจการในภูมิภาคต่างๆ ของโลกจึงมีความแตกต่างกันด้วย สำหรับในประเทศจีนความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของธุรกิจครอบครัวในปัจจุบันค่อนข้างใหม่ การเปิดตัวครั้งแรกของเศรษฐกิจจีนเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง และการเติบโตที่ไม่ธรรมดาของภาคเอกชนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าธุรกิจครอบครัวของจีนจำนวนมากกำลังเผชิญกับการสืบทอดกิจการเป็นครั้งแรก

 

ขณะที่การสำรวจในปีค.. 2019 พบว่าธุรกิจครอบครัวในจีนมีความพร้อมเพียง 15% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มีความพร้อมถึง 42% ยิ่งไปกว่านั้นทายาทรุ่นที่ 2 ของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ร่ำรวยส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศและอาจเริ่มต้นทำงานนอกประเทศจีน ซึ่งคนรุ่นใหม่เหล่านี้อาจต้องการไปทำธุรกิจที่แตกต่างจากพ่อแม่ของตนหรืออาจเริ่มต้นการลงทุนใหม่มากกว่าเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจที่มีอยู่เดิม และปัญหาอีกประการหนึ่งของการวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวในจีนเกี่ยวข้องกับนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาล ซึ่งเป็นผลให้หลายครอบครัวที่ทำธุรกิจมีลูกเพียงคนเดียว

หลากมุมมอง การสืบทอด ธุรกิจครอบครัว (1)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขณะที่ญี่ปุ่นมีบางสิ่งตรงกันข้ามกับจีน ด้วยประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่นของธุรกิจครอบครัว ดังจะเห็นว่าธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกหลายบริษัทเป็นของญี่ปุ่น ซึ่งแนวคิดที่ยึดมั่นในประเทศญี่ปุ่นคือการให้สิทธิสืบทอดกับลูกคนโต (primogeniture) โดยประเพณีการส่งต่อธุรกิจครอบครัวหรือโชคลาภไปยังลูกชายคนโต ช่วยรักษาอำนาจควบคุมได้หลายชั่วอายุคน ซึ่งคุณลักษณะทางวัฒนธรรมนี้ส่งผลต่อการสืบทอดธุรกิจครอบครัวในญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ขณะที่เยอรมนีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ธุรกิจครอบครัวได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีในเรื่องของการสืบทอดกิจการได้หลายชั่วอายุคนและบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่กำลังวางแผนที่ดีในการสืบทอดกิจการ แม้ผู้ประกอบการรุ่นแรกในเยอรมนีอาจยังไม่มีแผนทั้งหมด แต่ธุรกิจที่อยู่มาอย่างน้อยถึงรุ่นที่ 2 มีแนวโน้มที่จะมีธรรมนูญครอบครัวและดำเนินการในประเด็นสำคัญได้ดี

   

สำหรับโอกาสของธุรกิจครอบครัวนั้น ในประเทศจีนทายาทรุ่นที่ 2 ของธุรกิจครอบครัวอาจอยู่ในสถานะที่ดีกว่ารุ่นแรกในการวางแผนสืบทอดกิจการ เนื่องจากพ่อแม่ของพวกเขาใช้เวลาหลายทศวรรษในการดำเนินงานและกำหนดกลยุทธ์ที่จะสร้างธุรกิจและอาจมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการมุ่งส่งต่อบริษัทให้กับทายาท เนื่องจากมักมีลูกเพียงคนเดียวเป็นทายาทรุ่นต่อไป ดังนั้นครอบครัวในจีนจึงควรให้ความสนใจตั้งแต่เนิ่นๆว่าลูกต้องการเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจหรือไม่ หากไม่แล้ว ครอบครัวจะต้องพิจารณาสมาชิกของครอบครัวขยาย เช่น ลูกพี่ลูกน้องซึ่งบางทีได้รับการบ่มเพาะเป็นอย่างดีสำหรับการทำงาน อีกทางเลือกหนึ่งคือคนรุ่นแรกอาจต้องพัฒนาผู้จัดการและผู้บริหารที่ไว้ใจได้เพื่อขึ้นเป็นผู้นำองค์กรต่อไปในอนาคต

(อ่านต่อฉบับหน้า)

หน้า 21- 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2563