วสท.เปิดต้นแบบห้องแยกการติดเชื้อฯช่วยร.พ.สู้โควิด-19

27 มี.ค. 2563 | 10:43 น.

วสท.เปิดต้นแบบห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบช่วยร.พ.สู้โควิด-19   ติดตั้งเร็ว ราคาประหยัด ใช้งานง่ายประยุกต์ยืดขยายได้ตามขนาดพื้นที่ห้องจนถึงร.พ.สนาม   หวังช่วยแก้ปัญหา  พร้อมระดมสมองวิศวกรเร่งพัฒนาถุงครอบศีรษะความดันบวกและเตียงคนไข้โปร่งใสความดันลบ  เปิดรับผู้ผลิตป้อนร.พ.และบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป

 

ดร.ธเนศ  วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. เผยว่าจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนาหรือ โควิด-19 นั้นทางวสท.  จึงได้จัดตั้งศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID -19  ขึ้นมา  เพราะเห็นว่าแพทย์มีความต้องการอุปกรณ์หลายตัวที่เกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรม  นำองค์ความรู้มาช่วยพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆที่แพทย์ต้องการ 

โดยเริ่มจากทางโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ  เข้ามาขอคำปรึกษาในการเตรียมพื้นที่ในโรงพยาบาลมาจัดทำเป็นห้องความดันลบ  จึงมีแนวคิดต้องการประดิษฐ์อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยกลุ่มแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์   และสิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้วคือห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบ  ข้อดีคือสามารถติดตั้งได้ทั้งช่องทางเดิน ที่โล่งในโรงพยาบาล   หรือสามารถใช้กับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการกักตัว  ลดการแพร่กระจายเชื้อได้  สามารถประยุกต์ให้เป็นโรงพยาบาลสนามอย่างเต็มรูปแบบ ติดตั้งรวดเร็ว ราคาประหยัด  ซึ่งได้มีการพัฒนาและทดสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 วสท.เปิดต้นแบบห้องแยกการติดเชื้อฯช่วยร.พ.สู้โควิด-19

“สิ่งที่คาดหวังคือ เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาให้กับบุคลากรทางการแพทย์  ในช่วงวิกฤติแบบนี้ และหากต้องการงานด้านวิศวกรรมให้นึกถึงเรา  มีความยินดีที่จะช่วยกันระดมความคิดและหาสมาคมแวดวงวิศวกรมาช่วยกันประดิษฐ์เป็นงานต้นแบบ  เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป”ดร.ธเนศ  กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายบุญพงษ์   กิจวัฒนาชัย  ผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID -19 วสท.และประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. กล่าวว่า จากการประมาณการณ์ของวงการแพทย์ถึงแนวโน้มผู้ป่วยที่ติดจากโควิด-19 ที่คาดว่าจะมีจำนวนมากนั้น  จึงแจ้งมาที่วสท.ว่ามีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมากด้วยเช่นกัน  เพื่อเตรียมรองรับความแออัดที่จะเกิดขึ้น  ทำให้เกิดการพัฒนา ห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบ  หรือโค้ดที่ใช้คือ  EIT-01-1/24032020  (Airborne Inflection Isolation Room หรือ AIIR)   สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

 วสท.เปิดต้นแบบห้องแยกการติดเชื้อฯช่วยร.พ.สู้โควิด-19

โดย เป็นห้องอเนกประสงค์เพื่อบรรเทาความแออัดในสถานพยาบาล   และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง การกักตัว และประชาชนทั่วไป  สามารถใช้เป็นที่นั่ง 3-4คนตามระยะห่างความปลอดภัย หรือเพิ่มเตียงคนไข้ได้อีกหนึ่งเตียง  โดยเลือกใช้วัสดุภายในประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยในการใช้งาน ดูแล บำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้โดยง่าย  ห้องนี้จึงออกแบบตามมาตรฐานสากลมีขนาดกว้าง 1.30เมตร xยาว2.6เมตรxสูง2.20เมตร เหตุผลเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับแพทย์ในการดูแลรักษาคนไข้  

ทั้งห้องนี้ต้องมีการควบคุมความดันตลอดเวลาด้วย  โดยผ่านการทดสอบทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  ภายในห้อง การรั่วที่มากเกินไปของผนังห้อง การหมุนเวียนอากาศจำนวน 12 ครั้งต่อชั่วโมง และการรักษาแรงดันห้องให้มีความดันลบ (ต่ำกว่าความดันบรรยากาศ) น้อยกว่า 2.50 ปาสกาล (Pa)  ส่วนวัสดุที่จะนำมาผลิตนั้นจะเน้นวัสดุที่ผลิตในประเทศจึงพบว่าท่อพีวีซีเหมาะสมที่สุดเพราะต้องใช้สิ่งที่มีน้ำหนักเบา  ไม่มีรอยต่อ ไม่มีมุม ไม่สะสมเชื้อโรคมาเป็นตัวเสา  ส่วนผนังจะใช้พลาสติกใส เพราะมีข้อดีคือผืนใหญ่ ไม่มีรอยต่อ พับเก็บได้ ความหนา 60 ไมครอน มีพัดลมดูดอากาศ เป็นตัวควบคุมความดัน  เมื่อประกอบรวมกันแล้วจะใช้งบประมาณ 8,000 บาทต่อคนต่อเตียง 

   วสท.เปิดต้นแบบห้องแยกการติดเชื้อฯช่วยร.พ.สู้โควิด-19

ซึ่งทางวสท.เตรียมติดตั้งให้กับโรงพยาบาลต่อไป  รวมถึงเพื่อให้แบบนี้เป็นมาตรฐานกลาง มอบให้กับหน่วยงานราชการ และเอกชนสามารถนำไปใช้ในการจัดซื้อหรือผลิตได้   เนื่องจาก วสท. จะไม่ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต โรงงานผลิต และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการผลิต หรือการจำหน่ายใด ๆ ทั้งสิ้น  แต่จะส่งมอบแบบและให้คำปรึกษาเท่านั้น

นอกจากนี้ได้มีการออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นที่ 2 คือ “ถุงครอบศีรษะของบุคลากรทางการแพทย์แบบความดันบวก”  เพื่อเป็นการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วย  ไม่ว่าจะเป็นคนเข็นเตียง  พยาบาล จนถึงแพทย์  คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า   และอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นที่ 3 เป็นเตียงคนไข้โปร่งใสครอบเตียงความดันลบ พร้อมอุปกรณ์บำบัดอากาศเพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระหว่างทาง  และขยายผลถึงรถเข็นคนไข้  คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนมีนาคมนี้

 วสท.เปิดต้นแบบห้องแยกการติดเชื้อฯช่วยร.พ.สู้โควิด-19

“คนไทยต้องทำความหวังให้เป็นความจริงด้วยการลงมือทำ  เชื่อว่าวิศวกรไทย และคนไทยทุกคนต้องการช่วยเหลือประเทศด้วยความรู้ที่เรียนมา ด้วยความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด ดังนั้นทุกความเห็น และกำลังใจของท่านจะช่วยให้พวกเราลงมือทำ และจะทำต่อไปจนกว่าคนไทยจะผ่านวิกฤตการณ์นี้ด้วยกันทุกคน  และขอให้ทุกคนใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสังคม อยู่กับบ้านตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และสุขภาพแข็งแรงทุกคน”นายบุญพงษ์   กล่าวทิ้งท้าย

 วสท.เปิดต้นแบบห้องแยกการติดเชื้อฯช่วยร.พ.สู้โควิด-19

 วสท.เปิดต้นแบบห้องแยกการติดเชื้อฯช่วยร.พ.สู้โควิด-19