ถอดบทเรียน"รพ.สนามธรรมศาสตร์"ตั้งใน"ม.-ราชภัฎ"ทั่วประเทศ

27 มี.ค. 2563 | 09:04 น.

   รมว.การอุดมศึกษาฯเยี่ยมชมโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ พร้อมยกให้เป็น“ต้นแบบ”ความสำเร็จ สั่งถอดบทเรียนสำหรับขยายไปสู่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หากสถานกาณณ์โควิด-19รุนแรงขึ้น


ถอดบทเรียน"รพ.สนามธรรมศาสตร์"ตั้งใน"ม.-ราชภัฎ"ทั่วประเทศ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 ตอนหนึ่งว่า อว.มีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในการกำกับดูแลทั่วประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏอีก 38 แห่ง ฉะนั้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) รุนแรงขึ้น ก็จะใช้โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เป็นต้นแบบ เพื่อขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้พร้อมต่อการรองรับผู้ป่วยทั่วประเทศ  
  

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์มีความพร้อม ทั้งระบบการจัดการและโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบไอที การจัดการห้องพัก ตลอดจนการรักษา ที่ครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งหมดคือรูปธรรมในการปรับพื้นที่มหาวิทยาลัยไปเป็นโรงพยาบาลสนามอย่างแท้จริง จึงได้ขอให้คณาจารย์และแพทย์ของธรรมศาสตร์ ช่วยถอดรหัสปัจจัยความสำเร็จ และแนวทางการดำเนินงานออกมา เพื่อในอนาคตหากต้องปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ มาเป็นโรงพยาบาลสนามก็จะสามารถทำได้ทันที
  

 “ผมขอให้กำลังใจและชื่นชมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ต่อการดำเนินการในส่วนนี้ วันนี้ได้เห็นแล้วรู้สึกสบายใจว่า ธรรมศาสตร์สามารถทำได้จริง ๆ เพราะในอนาคต หรืออีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า คาดว่าจะมีคนไข้เพิ่มขึ้นอีกมาก หากเราสามารถแยกแยะผู้ที่มีอาการหนักออกจากผู้ที่มีอาการไม่หนักได้ ก็จะตอบโจทย์ประเทศได้เป็นอย่างมาก ฉะนั้นหากมีอะไรขาดเหลือผมก็จะพร้อมจะไปดำเนินการต่อกับส่วนกลางเพื่อสนับสนุน” ดร.สุวิทย์ กล่าว


    

ถอดบทเรียน"รพ.สนามธรรมศาสตร์"ตั้งใน"ม.-ราชภัฎ"ทั่วประเทศ

รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ธรรมศาสตร์คือมหาวิทยาลัยของประชาชน ที่รวบรวมองค์ความรู้ งานวิจัย ตลอดจนคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จำนวนมาก ฉะนั้นในสถานการณ์วิกฤตของประเทศ ธรรมศาสตร์จึงต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ซึ่งโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนถึงความร่วมไม้ร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน   ภาควิชาการ โรงเรียนแพทย์ ตลอดจนภาคประชาชน ที่พร้อมใจช่วยเหลือดูแลกันโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
    

“ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีสุวิทย์ที่เดินทางมาให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน และขอให้ประชาชนทุกท่านวางใจในการทำงานของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และคณะแพทย์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่จะดูแลท่านอย่างดีที่สุด พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลต่าง ๆ และช่วยสนับสนุนภารกิจของประเทศให้สำเร็จลุล่วง” รองศาสตร์จารย์ เกศินี กล่าว
  
 

ถอดบทเรียน"รพ.สนามธรรมศาสตร์"ตั้งใน"ม.-ราชภัฎ"ทั่วประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า หลักการสำคัญของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ขนาด 308 เตียง คือการรองรับผู้ป่วยที่เกินกว่าศักยภาพเตียงของโรงพยาบาลรัฐ โดยระยะเริ่มต้นจะรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแล้วจากกลุ่มโรงเรียนแพทย์ 5 สถาบันก่อน ซึ่งได้เปิดบริการและรับผู้ป่วยรายแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
    

“เราจะรับผู้ป่วยที่อาการคงที่แล้วมาดูอาการ 14 วัน  ซึ่งในระหว่างนี้หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงก็จะส่งตัวเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯได้ทันที” ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล กล่าว
    

นอกจากเยี่ยมชมการดำเนินการของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ ยังได้ชมการดำเนินการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์"ThamMask" จากการบูรณาการองค์ความรู้หลายด้านของประชาคมธรรมศาสตร์ เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ป้อนบุคลากรทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัย และสามารถต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปอีกด้วย

ถอดบทเรียน"รพ.สนามธรรมศาสตร์"ตั้งใน"ม.-ราชภัฎ"ทั่วประเทศ

ถอดบทเรียน"รพ.สนามธรรมศาสตร์"ตั้งใน"ม.-ราชภัฎ"ทั่วประเทศ