‘โควิด’ลากยาวสิ้นปีฉุดจีดีพีเอสเอ็มอี วูบ3.5แสนล้าน

30 มี.ค. 2563 | 02:20 น.

วิกฤติไวรัสโคโรนา (โควิด-19) แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนต้นทางของโรคจะคลี่คลายลง แต่สถานการณ์เวลานี้ได้ขยายวงลุกลามไปในยุโรป และอเมริกา ส่งผลมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจำนวนมาก กระทบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และการบริโภคสินค้าและบริการของโลกหดตัวลง และยากคาดเดาว่าสถานการณ์จะสงบลงได้เมื่อใด เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีของไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวจากการลดลงอย่างน่าใจหายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

กระทบSMEs 1.3 ล้านราย

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วิกฤติโควิด -19 ครั้งนี้ สสว.ประเมินผลกระทบเอสเอ็มอีไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 1.33 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 44% (จากเอสเอ็มอี ทั่วประเทศที่มีกว่า 3 ล้านราย) ที่กระทบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจต่อเนื่องกับภาคบริการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก, ร้านอาหาร เครื่องดื่ม, ที่พัก /โรงแรม บริการการท่องเที่ยว, บริการขนส่ง และกีฬา นันทนาการ(กราฟิกประกอบ)

‘โควิด’ลากยาวสิ้นปีฉุดจีดีพีเอสเอ็มอี วูบ3.5แสนล้าน

สำหรับวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เป็นวิกฤติเชิงซ้อน เพราะยังมีอีก 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ สงครามการค้าที่ส่งผลกระทบเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออก ภัยแล้ง และค่าเงินบาทที่ผันผวนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก ขณะที่วิกฤติโควิด-19 ยังส่งผลต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง

 

ลากยาวปลายปีสูญ 3.5 แสนล.

“หากวิกฤติโควิด-19 ฟื้นตัวเร็วคือประมาณเดือนเมษายน คาดว่าภาคเอสเอ็มอีจะสูญเสียรายได้ประมาณ 120,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี)ของเอสเอ็มอี แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปถึงปลายปี คาดเอสเอ็มอีจะสูญเสียรายได้ถึง 350,000 ล้านบาท คิดเป็น 2% ของจีดีพีเอสเอ็มอี ดังนั้นคาดสถานการณ์ที่ดีที่สุดของจีดีพีเอสเอ็มอีปีนี้จะอยู่ที่7.2 ล้านล้านบาท และกรณีร้ายแรง ที่สุดจะอยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท”

ทั้งนี้ผลจากการหารือกับภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผนวกกับผลการสำรวจความต้องการของ
ผู้ประกอบการรายย่อยโดย สสว.จำนวน 2,728 ราย ใน 6 ภูมิภาค พบว่า มาตรการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด ได้แก่ การลดภาระค่าใช้จ่ายค่านํ้า ค่าไฟ ภาษี ค่าเช่า และการอุดหนุนให้มีการจ้างงานต่อไป พร้อมกับการจัดให้มีสภาพคล่องในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าที่มีเงื่อนไขปล่อยกู้ผ่อนปรนกว่าเดิม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมารองรับปัญหาเหล่านี้อย่างทันท่วงทีแล้ว อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท, มาตรการชำระหนี้เงินต้นลดดอกเบี้ยของธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เข้าไปสนับสนุน

นอกจากนี้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และเพื่อเสถียรภาพการจ้างงานให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายค่าจ้างลูกจ้างทำประกันตนมาหักภาษีได้ 3 เท่า

หวังจัดจ้างภาครัฐเพิ่มยอด

“หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ สสว.ก็มีหลายมาตรการในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น กำลังดำเนินการร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น และได้มอบหมายศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (OSS) 77 จังหวัดทั่วประเทศทำการสำรวจและรับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการ รวบรวมปัญหาและความต้องการช่วยเหลือ และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ศึกษาปัญหาและผลกระทบเอสเอ็มอีจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในจีนเป็นตัวอย่าง”

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2563

‘โควิด’ลากยาวสิ้นปีฉุดจีดีพีเอสเอ็มอี วูบ3.5แสนล้าน