หอการค้าไทยชี้ชัดสิ่งสำคัญต้องชะลอการเลิกจ้าง

26 มี.ค. 2563 | 05:00 น.

หอการค้าไทยเผยแนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนในการสนับสนุนมาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจายของ COVID-19 ของภาครัฐ


นายกลินท์  สารสิน  ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน  เปิดเผยว่า ภาคเอกชนมีข้อเสนอในการร่วมดำเนินการกับรัฐบาลในช่วงที่ภาครัฐมีมาตรการในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรค COVID-19 ที่เข้มข้น มุ่งเน้นการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การผลิตและการบริการเป็นวงกว้าง ประกอบด้วย

หอการค้าไทยชี้ชัดสิ่งสำคัญต้องชะลอการเลิกจ้าง

              1. มาตรการด้านเศรษฐกิจ ระหว่างประกาศภาวะฉุกเฉิน ควรเน้นความเร็วและการเข้าถึง เพื่อให้ประชาชนสามารถยังชีพได้ และลดปัญหาสังคม หลักสำคัญที่สุด คือ การชะลอการเลิกจ้าง และการประคับประคองให้ผู้ถูกเลิกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยสวัสดิการ/เงินอุดหนุนต่างๆ  โดยหลังจากประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว เอกชนมั่นใจว่าระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจะสามารถให้บริการได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่องอาทิ ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม การเงิน และท่าเรือขนส่งสินค้า เป็นต้น

              ตามที่รัฐได้แถลงนโยบายไปแล้ว เรื่องชะลอการเลิกจ้างโดยการให้การสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปจ่ายให้กับลูกจ้าง เสนอให้ตั้งกองทุน (อาจจะร่วมกับเอกชนด้วย) ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปจ่ายค่าแรง  ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งพักชำระหนี้ และ ปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารให้แก่ SMEs รวมทั้ง ให้วงเงินกู้เพิ่มเติมกับธุรกิจที่ขาดสภาพคล่อง  อย่างไรก็ดี  เสนอควรอนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน  ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชน สามารถให้บริการและติดต่อทางออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การออกใบอนุญาตต่างๆ การนำเข้าส่งออกสินค้าต่างๆ ไม่ให้มีการตกค้างที่ท่าเรือ หรือ สนามบิน 

              ควรมีการติดตามผลว่ามาตรการต่างๆที่ได้ประกาศใช้สามารถช่วยเหลือ ผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเมื่อวิกฤตครั้งนี้ผ่านไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการกลับมาดำเนินการของธุรกิจเหล่านี้ ทั้งนี้ การให้ความสนับสนุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระยะยาว 

2. มาตรการเร่งด่วนด้านสาธารณสุข  ภาคเอกชนขอขอบคุณที่ภาครัฐได้สื่อสารให้ประชาชนเห็นความสำคัญ ในการใส่หน้ากากเมื่อออกจากที่พักอาศัย ที่ทำงาน รวมถึง ความสำคัญของการล้างมือ เพราะเป็นมาตรการลดการแพร่กระจายเชื้อสู่สาธารณะที่มีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้ง่าย โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะร่วมผลักดันการสื่อสารดังกล่าว  โดยภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเร่งรัดจัดหาหน้ากากให้เพียงพอกับการใช้งาน ทั้งโดยการผลิตภายในประเทศและการนำเข้า อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนการผลิต/นำเข้าและกระจายเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่างๆอย่างเร่งด่วน (เช่น Test Kit,เครื่องช่วยหายใจวัตถุดิบในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น)

              สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมประสานงานกับศอฉ.COVID-19 ในการรวบรวมพลังของภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือประชาชน  ภาคเอกชนพร้อมให้ความสนับสนุนสถาบันทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เช่น อาหาร น้ำ และเงินบริจาค

              3.ภาคเอกชนจะให้ความร่วมมือในการผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และยังคงการจ้างงาน รวมทั้ง ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยมีแนวทางการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมและบริการดังนี้ 2.1 อุตสาหกรรมที่มีความจำเป็น(Essential) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงจะต้องสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม , เวชภัณฑ์การแพทย์ , เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร , ธนาคาร . ธุรกิจการเกษตร . พลังงานและสาธารณูปโภครวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ตลอดจน การจัดจำหน่าย การขนส่ง และโลจิสติกส์

              ทั้งนี้ การนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต ช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต การขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางน้ำ (รวมถึงท่าเรือ) และทางอากาศเพื่อรองรับการกระจายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่ออุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น การบรรจุภัณฑ์ กระดาษและวัสดุการพิมพ์ โรงกลั่น ปิโตรเคมี ก๊าซ(ออกซิเจนสำหรับใช้ในโรงพยาบาลและเคมีภัณฑ์ ให้สามารถดำเนินการได้ เพื่อสนับสนุนการผลิตและการบริการของอุตสาหกรรมที่จำเป็นข้างต้น

              2.2 เชิญชวนให้ผู้ประกอบการจัดทำมาตรการเชิงรุก (Proactive) ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เข้มข้น ทั้งในสำนักงานและโรงงาน และต้องมีแผนรับรองกรณีที่พบผู้ติดเชื้อ ทั้งสำหรับสำนักงานและโรงงาน จึงขอเสนอตัวอย่างของมาตรการที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดังต่อไปนี้  มาตรการเชิงรุก (PROACTIVE) สำหรับสำนักงาน  ,กำหนดสัดส่วน Work From Home เป็นข้อกำหนดที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆเช่น เริ่มต้นที่มากกว่า 80% หรือ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพนักงานที่เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น  ,จัดที่นั่งให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ,งดการจัดประชุมหรือเข้าร่วมประชุมในกลุ่มที่มีคนจำนวนมาก

หอการค้าไทยชี้ชัดสิ่งสำคัญต้องชะลอการเลิกจ้าง

              ,มีระบบการคัดกรองที่สำนักงาน และการรายงานผู้มีความเสี่ยง รวมทั้งการสื่อสารแนวทางการดูแลตนเอง และการเฝ้าระวัง ,มีการจัดเตรียมระบบการสื่อสารสำหรับ Work From Home ,เพิ่มรอบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ ,ห้ามพนักงานเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง และหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ,มีการกำหนด Critical Function และจัดตั้ง Crisis Team เพื่อติดต่อสื่อสารและรายงานกรณีพบผู้ติดเชื้อ

มาตรการเชิงรุก (PROACTIVE) สำหรับโรงงาน ได้แก่ จำกัดบริเวณพนักงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักรสำคัญ โดยให้อยู่ในบริเวณพื้นที่ควบคุมเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ติด COVID-19 ,แบ่งเป็นทีมย่อยหลายทีมตามความเหมาะสม และไม่มี Personal Contact ระหว่างทีม ,คัดกรองการเข้าออกพื้นที่ ตรวจวัดอุณหภูมิเมื่อเข้าโรงงาน ,จัด Zoning ภายในสถานที่ทำงานและโรงงาน  ,จัดที่นั่งให้ห่างกันอย่างน้อย 1เมตร ,กำหนดโซนที่เป็น zero COVID-19 โดยจำกัดการเข้าพื้นที่ของลูกค้าและพนักงานและการ Interact แบบ Non-Contact  ,เพิ่มรอบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ ,ห้ามพนักงานเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง และหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ,มีการกำหนด Critical Function และจัดตั้ง Crisis Team เพื่อติดต่อสื่อสารและรายงานกรณีพบผู้ติดเชื้อ

หอการค้าไทยชี้ชัดสิ่งสำคัญต้องชะลอการเลิกจ้าง

              ด้านการสื่อสาร ควรจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ออกมาให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง  โดยขอให้รัฐบาลสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศใช้ด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน  ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือในการร่วมสื่อสารมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ได้ประกาศใช้ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างชัดเจนและทั่วถึง

              ด้านการบริหารจัดการ  เอกชนพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการทำงานบูรณาการ กับหน่วยงานต่างๆ   ทั้งในช่วงภาวะฉุกเฉิน และหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งอย่างยั่งยืน  ภาครัฐควรต้องรักษาระบบการเงินด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่า มีเงินทุนในระบบแบบไม่จำกัด ด้วยมาตรการทางการเงินต่างๆ

“รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ดี คาดว่าสถานการณ์นี้ คงจะยังมีผลต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ดำเนินต่อไปได้”