อ่านชัดชัด "แพ็กเกจใหญ่" เยียวยาแรงงานสู้พิษโควิด

25 มี.ค. 2563 | 06:22 น.

กระทรวงแรงงาน แถลงทุกปมคาใจ มาตรการเยียวยา ช่วยเหลือผู้ประกอบการ-ลูกจ้าง เจอพิษโควิด-19

 

วันที่ 25 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. กระทรวงแรงงาน ขนทีมใหญ่ นำโดย หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการแถลงข่าวมาตรการเร่งด่วนของกระทรวงแรงงานทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านต่างประเทศ ด้านป้องกัน และด้านเยียวยา เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล 

รมว.แรงงาน ย้ำว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19  สำหรับมาตรการเยียวยาลูกจ้างผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 180 วัน หรือ 3 เดือน 

อ่านชัดชัด "แพ็กเกจใหญ่" เยียวยาแรงงานสู้พิษโควิด

กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม - 31 สิงหาคม 2563 ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระก็สามารถได้สิทธิ์เดือนละ 5,000 บาท ตามที่กระทรวงการคลังให้ไว้

กรณีเจ็บป่วยเป็นโควิด - 19สามารถรักษาฟรีได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ การลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนในส่วนของนายจ้าง จากเดิม 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือ 4% ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนจากเดิม 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือ 1% เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563
         
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการเยียวยาแก่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ ร้านค้า สถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราว ได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Part - time เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำงานแบบรายชั่วโมง และบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สถานประกอบการ นอกจากนี้ จะฝึกอบรมอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน ให้แก่กลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อให้สามารถนำทักษะความรู้ไปประกอบอาชีพอิสระได้ ฝึกโดยกรมการจัดหางาน 2,000 คน เมื่อฝึกจบแล้วจะมอบเครื่องมือทำกินให้สามารถนำไปต่อยอด ให้มีอาชีพ มีรายได้ ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีเป้าหมายการฝึก 7,800 คน โดยระหว่างฝึกมีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 150 บาท รวมกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 9,800 คน

อ่านชัดชัด "แพ็กเกจใหญ่" เยียวยาแรงงานสู้พิษโควิด

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ในด้านต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ทูตฯ แรงงาน สำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ (สนร.) ทั้ง 12 แห่ง จัดทำฐานข้อมูลของแรงงาน เพื่อสำรวจข้อมูลแรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศไทย โดยจัดทำทะเบียนประวัติของแรงงาน เพื่อช่วยเหลือตามความต้องการ นอกจากนี้ กรมการจัดหางานมีมาตรการชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าวทุกขั้นตอนตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
        
ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ ยังกล่าวถึงมาตรการด้านการป้องกันการแพร่ระบาดภายในประเทศ โดยผ่อนปรน ให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ของบุคลากรและรณรงค์ให้สถานประกอบการใช้มาตรการดังกล่าวด้วย การทำหน้ากากผ้าแก่ประชาชน สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคในสถานประกอบการและผ่านสื่อทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการให้บริการประกันสังคมผ่าน E - Service และ E - Payment เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด ลดความเสี่ยงในการเดินทางมาติดต่อขอรับบริการที่สำนักงาน

อ่านชัดชัด "แพ็กเกจใหญ่" เยียวยาแรงงานสู้พิษโควิด

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมฝีมือแรงงาน กล่าวว่า มีแนวทางการฝึกอาชีพ ให้แก่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน กลุ่มเป้าหมาย 390 รุ่นทั่วประเทศ ประมาณ 8,000 คน ใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท ระยะเวลาฝึก 50 วัน และการฝึกแรงงานในระบบการจ้าง โดยพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้สูงขึ้น เพื่อให้มีทักษะการทำงานดีขึ้น เป็นระยะเวลา 1 เดือน เช่น หลักสูตรการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน การเขียนแบบคอมพิวเตอร์ มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 7,000 คน 350 รุ่น ใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท

อ่านชัดชัด "แพ็กเกจใหญ่" เยียวยาแรงงานสู้พิษโควิด

ขณะที่ นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน กล่าวถึงการจัดการแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 หากประสงค์ที่จะทำงานต่อให้มารับใบขออนุญาตทำงานภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่สำนักงานกรม และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ one stop service ในกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง และภูมิภาค 38 แห่ง และนายจ้างสามารถยื่นบัญชีรายชื่ออนุมัติทางออนไลน์ได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามสามารถอยู่ชั่วคราวต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยยกเว้นค่าปรับอยู่เกินกำหนด

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงกรณีสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราวว่า ในข้อกฎหมาย หากมีเหตุจำเป็นก็สามารถหยุดกิจการชั่วคราวได้ แต่การจ่ายเงินให้กับลูกจ้างอาจจะไม่สามารถจ่ายได้เต็มตามที่ลูกจ้างได้รับ แต่ก็ต้องจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของลูกจ้างได้รับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

“ส่วนกรณี ที่ลูกจ้างถูกบังคับให้เซ็นต์ลาออก  ถือเป็นเจตนามิชอบ จึงเป็นการลาออกด้วยความมิชอบ ส่วนลูกจ้าง ที่กังวลใจ  ปัญหาสุขภาพ และขอ กักตัว 14 วัน จะได้รับสิทธิหรือไม่นั้น อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  ยืนยันว่า คงต้องใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์  พูดคุยกัน แต่แนะนำให้ใช้สิทธิ์  ลาป่วยตามกฎหมาย ได้ 30 วัน ลาพักร้อน ตามสิทธิ์ที่มีไปก่อน”

นอกจากนี้  นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์สถานการณ์รองรับการว่างงาน โดยเป็นศูนย์ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะดูว่าบริษัทใดต้องการความช่วยเหลือ ช่วยประสานกันระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกอบการ เป็นศูนย์รวมข้อมูล เช่นผู้ประกอบการที่ต้องการตำแหน่ง ต้องการจ้างเพิ่มก็ยังมีหลายตำแหน่ง และได้จัดตั้งศูนย์ Part Time ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนอีกส่วนหนึ่ง