เงินบาทเปิด 32.84 จับตา กนง. "ลดดอกเบี้ย"วันนี้

25 มี.ค. 2563 | 01:22 น.

​​​​​​​ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.84 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.90 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 32.80-33.10 บาทต่อดอลลาร์

 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ระบุว่าฝั่งตลาดเงิน ก็เป็นวันแรกที่เริ่มเห็นดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก สกุลเงินที่เคลื่อนไหวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นออสเตรเลียดอลล่าร์ (AUD) และสกุลเงินที่เคื่อนไหวตามตลาดทุนเช่นวอนเกาหลี (KRW) เป็นสกุลที่ได้รับแรงหนุนมากที่สุด และน่าจะทำให้ภาพรวมการลงทุนในฝั่งเอเชียวันนี้เป็นบวกต่อไป

ส่วนในประเทศ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะ “ลด” อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 25 bps ในการประชุมวันนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ และต้องสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และสร้างความเชื่อมั่น นอกจากนั้นก็เชื่อว่า กนง. จะมีมาตรการด้านอื่น ๆ ออกมาเพิ่มเติม เช่น การใช้ forward guidance ที่เข้มข้นขึ้นเพื่อส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจน และโครงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (targeted soft loans)


ฝั่งเงินบาท เชื่อว่าจะทรงตัวในกรอบแคบได้ในวันนี้ แต่ช่วงบ่ายก็น่าจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากแรงเก็งกำไรบนการลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.

 

สำหรับในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดได้รับแรงหนุนจากความหวังว่ารัฐสภาจะผ่านร่างกฎหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐรอดพ้นจากภาวะถดถอยจากพิษไวรัสโควิด-19 ได้ ดัชนี S&P500 จึงปรับตัวขึ้นถึง 9.4% ขณะที่ดัชนี Dow Jones ก็ปรับตัวขึ้นถึง 11% ถือเป็นการปรับตัวขึ้นภายในวันเดียวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1933

อย่างไรก็ดี ฝั่งตลาดการเงินอื่นๆ กลับดูจะไม่ได้ตอบรับในเชิงบวกมากเท่าหุ้น โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวบวกขึ้นเพียง 6bps มาที่ระดับ 0.84% เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์ทั่วยุโรปที่ปรับตัวขึ้นราว 2-12bps แม้ตลาดหุ้นเช่นกัน 

เชื่อว่าน่าจะมาจากภาคดัชนีความกลัว (VIX Index) ที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 61จุด ขณะที่ตัวเลขดัชนีภาค อุตสาหกรรมการผลิต (Richmond Fed Manufact. Index) และผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในสหรัฐ (Markit US Composite PMI) เดือนนี้ก็ไม่ได้ปรับตัวลงเยอะอย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้ สร้างคำถามว่าปัญหาการระบาดของไวรัสอาจเกิดขึ้นต่อในฝั่งอเมริกาได้เนื่องจากไม่ได้มีการควบคุมอย่างเข้มงวด