ร.พ.เอกชน  ปรับแผน สู้ ‘โควิด-19’  เสริมไดรฟ์ธรู-ดีลิเวอรี

26 มี.ค. 2563 | 01:21 น.

โควิด-19 ระบาดหนัก“โรงพยาบาล เอกชน” เร่งปรับแผนตั้งรับ “รามคำแหง” ชิงให้บริการตรวจหาเชื้อผ่านไดรฟ์ธรู พร้อมสำรองร.พ.หลังตัวเลขพุ่งต่อเนื่อง ขณะที่ “ธนบุรี” ทุ่มกว่า 1,500 ล้านเปิดร.พ.สนาม

สถิติการติดเชื้อโควิด-19 ของคนไทยที่ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์การระบาดภายในประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มปรับทัพรับมือ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่ต้องตั้งรับพร้อมทั้งมีมาตรการอย่างเข้มงวดในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนก็เช่นกัน  ต่างงัดไม้เด็ดออกมารับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้

นพ.พิชญ สมบูรณสิน กรรมการบริหาร โรงพยาบาลรามคำแหง เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ช่วงที่มีการระบาดองค์การอนามัยโลกและองค์กรสาธารณสุข มีนโยบายว่าจะต้องค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้กักตัวและหยุดการแพร่ระบาดให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าจากแนวคิดดังกล่าวหากประชาชนต้องการตรวจเป็นจำนวนมากและนั่งรอที่โรงพยาบาลก็อาจจะเกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อขึ้นมาได้

ดังนั้นจึงได้นำโมเดลไดรฟ์ธรูหรือ Drive thru test มาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในหมู่ผู้ที่ต้องการตรวจโดยไม่ต้องมารอรวมกันจำนวนมาก โดยนโยบายของทางโรงพยาบาลคือต้องการสกัดกั้นและไม่ให้มีการแพร่ระบาดในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันการระบาดให้มากที่สุด

สำหรับโมเดลการตรวจแบบไดรฟ์ธรูครั้งแรกเกิดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงและหาผู้ติดเชื้อได้จำนวนมาก ทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ทั่วโลกก็เปลี่ยนมาเป็นการตรวจแบบไดรฟ์ธรูเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อแทบทั้งสิ้น โรงพยาบาลจึงนำโมเดลนี้เข้ามาใช้ โดยสามารถรองรับประชาชนได้ 300-400 คนต่อวัน ใช้เวลาในการตรวจราว 5 นาทีต่อคน และสามารถทราบผลภายใน 1 วัน ซึ่งในช่วงวันแรกมีผู้มาใช้บริการ 120 คน ขณะที่วันต่อๆ มามีผู้มาใช้บริการกว่า 200 คนต่อวัน

ร.พ.เอกชน  ปรับแผน สู้ ‘โควิด-19’  เสริมไดรฟ์ธรู-ดีลิเวอรี

หลังจากวิกฤติโควิด - 19 หายไป โมเดลไดรฟ์ธรูดังกล่าวก็สามารถถอดออกหรือปรับฟังก์ชันการทำงานไปให้บริการในส่วนอื่น หรือกลุ่มโรคอื่นๆได้ แน่นอนว่าหลังจากการระบาดดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีการดูแลผู้ที่ได้รับเชื้อ ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ

พร้อมกันนี้ยังได้มีการติดตั้งจุดดูแลคนไข้ (OPD) ที่ได้รับเชื้อแต่ไม่ป่วย หรือไม่แสดงอาการโดยเฉพาะ เพื่อดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นการรักษาและแนะนำแก่ผู้ติดเชื้อ พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลในเครืออย่างโรงพยาบาลวิภาราม-
ชัยปราการ ที่มีจำนวน 170 เตียง ทำเป็นสถานที่รองรับโควิด-19 โดยเฉพาะ นอกจากนี้ก็ยังมีในส่วนของโรงพยาบาลพันธมิตรอย่างโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมืองที่มีมาตรการและการเตรียมโรงพยาบาลในการรองรับอย่างเต็มขั้น ที่พร้อมจะซัพพอร์ตการทำงานซึ่งกันและกัน

สอดคล้องกับที่นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ THG กล่าวว่าโรงพยาบาลทุ่มงบกว่า 1,500 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงพยาบาลสนามชั่วคราว ในรูปแบบอาคารชั้นเดียวจำนวน 200-300 เตียง โดยนำตู้คอนเทนเนอร์มาประกอบ บนเนื้อที่ 4 ไร่ ตรงข้ามโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ปัจจุบันให้เช่าเป็นที่จอดรถ โดยยึดโมเดลโรงพยาบาลอู่ฮั่น ก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หากสถานการณ์โควิด-19 เข้าสู่เฟส 3 จริง

นอกจากนี้ยังได้เตรียมเปิดคลินิกธนบุรี บางซื่อ 3 ไร่ ในแนวคิดสถานพยาบาลฉุกเฉินออกมารองรับ หากสถานการณ์วิกฤติมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้เตรียมสร้างโรงพยาบาลพักฟื้นรองรับได้ 2,000 เตียง หากสถานการณ์ในประเทศเข้าสู่วิกฤติการระบาดในเฟส 3 โดยในวงการแพทย์มองว่าช่วงรุนแรงสุดน่าจะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึง

ด้านภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลรองรับทั้งผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติด้วยสัดส่วน 50:50 ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทย ทำให้ทางโรงพยาบาลเพิ่มมาตรการในการดูแลและรับมือมากยิ่งขึ้น โดยมีทีมทำงานที่เป็นฝ่ายควบคุมโรคและศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ที่คอยติดตามสถาน การณ์โรคต่างๆ เพื่อประเมินและปรับการบริหารจัดการเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ในแต่ละวันที่เปลี่ยนไป

ล่าสุดโรงพยาบาลจึงได้เปิดบริการใหม่สุขภาพดีอยู่ที่บ้าน ปรึกษาแพทย์โทรสายด่วน 1378” เพื่อมารองรับการดูแลผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว โดยผู้ต้องการใช้บริการสามารถโทร.ผ่านสายด่วน 1378 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการรับสายตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน เพื่อเข้าสู่ 3 บริการหลักๆ ได้แก่ 1. ต้องการปรึกษาแพทย์ สามารถคุยกับแพทย์ได้โดยตรง 2. ส่งยาตรงถึงบ้าน 3. บริการเจาะเลือดที่บ้านตามใบสั่งแพทย์ เป็นต้น

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26-28 มีนาคม 2563