ผลกระทบ COVID-19 ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและประเทศไทย

25 มี.ค. 2563 | 04:50 น.

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์
คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 22-28 มีนาคม 2563

 

การเกิดโรคระบาดในลักษณะของ “โรคระบาดทั่ว” (Pandemic) นั้น นับเป็นความไม่แน่นอน (Uncertainty) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อให้เกิดการหยุดชะงัก (Disruption) ในการผลิต โดยที่บริษัทไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

โรคระบาดทั่วนั้นสามารถก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อห่วงโซ่อุปทานโลกในระดับที่สูงกว่าการเกิดภัยธรรมชาติ เนื่องจากการเกิดโรคระบาดทั่วยากต่อการคาดเดาระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ และจุดสิ้นสุดของเหตุการณ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่รูปแบบการผลิตของโลกอยู่ในลักษณะของการแบ่งขั้นตอนการผลิต (Production Fragmentation) และการสร้างเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ (International Production Network) ทำให้การผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งอาศัยการผลิตชิ้นส่วนจากฐานการผลิตที่หลากหลายทั่วโลก และยิ่งในสินค้าที่มีการแบ่งขั้นตอนการผลิตมากและกระจายอยู่ในหลายประเทศ ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบรุนแรง

โรคไวรัส COVID-19 มีจุดกำเนิดที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ในมณฑลหูเป่ย (Hubei) ประเทศจีน ซึ่งนับเป็นเมืองที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นอย่างมาก เมืองอู่ฮั่นถูกขนานนามว่าเป็นDetroit” ของประเทศจีน เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของประเทศ โดยมีบริษัทประกอบรถยนต์ดำเนินการผลิตในเมืองอู่ฮั่นถึง 9 แห่งด้วยกัน

 

ผลกระทบ COVID-19  ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและประเทศไทย

 

นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิต ชิ้นส่วนยานยนต์ในเมืองอู่ฮั่นกว่า 500 แห่ง การประกาศLockdown” เมืองอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ยนับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2020 ซึ่งมีผลให้มีการปิดการคมนาคมขนส่งทั้งหมดจากเมืองอู่ฮั่น รวมไปถึงการหยุดการผลิตของโรงงานต่างๆ ภายในเมือง จึงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกที่อาศัยชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตในประเทศจีน เช่น Fiat, Hyundai, Ford ต่างประกาศลดหรือปิดสายการผลิตในรถยนต์บางรุ่นที่อาศัยชิ้นส่วนจากประเทศจีน

ผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องมายังผู้จัดหาวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่งให้กับบริษัทที่รถยนต์ให้กับ Lead firms เหล่านั้น ต้องถูกระงับออร์เดอร์จาก Lead firms ที่ยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั่วโลก รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ไทยต่างได้รับผลกระทบดังกล่าว


 

 

ผู้ผลิตบางส่วนตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวและจ่ายค่าจ้าง 75% ให้กับลูกจ้างแทน โดยชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้ในรถยนต์แต่ละรุ่นนั้นยากที่จะหาชิ้นส่วนทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้ใน รถยนต์แต่ละรุ่นจะมีการเซ็นสัญญาการผลิตในระยะยาว

นอกจากนี้ เมืองอู่ฮั่นยังเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาที่สำคัญของโลก เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาความดัน ซึ่งการ Lockdown เมืองอู่ฮั่นส่งผล กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งผลให้ผลผลิตยาปฏิชีวนะในประเทศอินเดีย ซึ่งต้องใช้สารตั้งต้นจากประเทศจีนในการผลิตลดลงถึง 20%

มาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังขยายไปสู่เมืองอื่นๆ ในประเทศจีน รวมถึงการขยายวันหยุดตรุษจีนของประเทศจีนออกไป ทำให้การผลิตของประเทศจีนหยุดชะงัก

นอกจากนี้ เมืองอู่ฮั่นยังมีความสำคัญจากการที่เป็นศูนย์กลางในการคมนาคมขนส่งของประเทศจีน เนื่อง จากเมืองอู่ฮั่นอยู่ตอนกลางของประเทศจีน และเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ทำให้เมืองอู่ฮั่นเป็นศูนย์กลางทั้งสายรถโดยสารและรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน การปิดเมืองอู่ฮั่นส่งผลให้การขนส่งสินค้า และการเดินทางของแรงงานเพื่อกลับมาทำงานที่โรงงานในเมือง อื่นๆ เป็นไปได้อย่างยากลำบาก

ถึงแม้ว่าเมืองอื่นในประเทศ จีนจะเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ช่วงวันที่ 15-20 กุมภาพันธ์ แต่ก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากความยากลำบากในการเดินทางจากภูมิลำเนาของตนกลับมาทำงานที่โรงงาน และเมื่อมาถึงยังต้องผ่านกระบวนการกักกันตนเองอีก 14 วัน จึงจะสามารถเริ่มทำงานได้ ส่งผลให้ภาคการผลิตของประเทศจีนหยุดชะงักเป็นเวลานาน

 

ดังจะเห็นได้จากดัชนี PMI ของประเทศจีน ตกตํ่าลงมาที่ระดับ 35.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 นับเป็นระดับที่ตํ่าที่สุดหลังการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในช่วงปี 2008 และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของดัชนี้ ISM และ PMI เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ในประเทศสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าในขณะนี้ สถานการณ์การระบาดในประเทศจีนจะดีขึ้นเป็นอย่างมาก และเริ่มมีการเปิดดำเนินการการผลิตตามปกติทั่วประเทศ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดได้ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในโลก โดยมีประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างน้อย 166 ประเทศ ประเทศที่พบการแพร่ระบาดหลายประเทศเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ซึ่งการแพร่ระบาดดังกล่าว จะก่อให้เกิดปัญหาการหยุดชะงักของการผลิต (Supply disruption) เช่นเดียวกับที่เกิดในประเทศจีน ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลก ที่มีส่วนการผลิตในประเทศที่เกิดการระบาดหยุดชะงัก

และหากการแพร่ระบาดทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมได้ ห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและมีความเชื่อมโยงในหลายประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและส่วนประกอบ จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง เนื่องจากต้องรับผลกระทบหลายทอด จากหลายประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน

ความเสี่ยงดังกล่าว อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจโลก ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยขนาดใหญ่อีกครั้ง