ไวรัส-ปิดห้างทำ “ค้าปลีก” อ่วม เตรียมยื่นหนังสือขอเยียวยา

24 มี.ค. 2563 | 08:52 น.

สมาคมค้าปลีกชงแผนเยียวยา หลังพิษโควิด-19 และมาตรการรัฐสั่งปิดห้างในหลายจังหวัด กระทบหนักร้านค้าใหญ่-เล็ก  การจ้างงาน 

นายคมสัน  ขวัญใจธัญญา  รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย  กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมเตรียมเสนอมาตรการเยียวยากลุ่มธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค ประคองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่ค้าปลีกค้าส่งให้อยู่รอด รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งให้สามารถจ้างงานต่อไปได้ โดยมีข้อเสนอ 4 มิติคือ

ไวรัส-ปิดห้างทำ “ค้าปลีก”  อ่วม  เตรียมยื่นหนังสือขอเยียวยา

1. มิติด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่ผูริโภค ได้แก่ 1. เสนอภาครัฐพิจารณาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 5% เป็นการชั่วคราว กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน -  30 กันยายน 2563 เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพผู้บริโภค 2. พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้สุทธิจากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก  สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 เพื่อให้ผู้มีรายได้ประหยัดจากภาษีจัดเก็บ ณ ที่จ่าย และนำมาจับจ่ายในช่วงวิกฤต          

 

2. มิติด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนิติบุคคล ได้แก่ 1. เสนอให้นิติบุคคลสามารถนำภาระค่าจ้างแรงงานในช่วงที่มีประกาศให้หยุดกิจการและไม่มีรายได้ มาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า 2. เสนอให้นิติบุคคลที่ต้องลงทุนซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง แจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาทิ กล้องอินฟราเรดจับอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิสแกน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสามารถนำค่าใช้จ่าย มาลดหย่อนภาษีได้ก่อนการคำนวณภาษี 3. เสนอให้พิจารณาลดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟ ต่อหน่วย ให้แก่ นิติบุคคล กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 กันยายน  2563 4. เสนอให้รัฐกำหนดสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยระยะสั้นเพื่อนิติบุคคลจะได้นำมาเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤติ 5.              เสนอพิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลประจำปี พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนพฤษภาคมไปเป็นเดือนสิงหาคม และพิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลกลางปี พ.ศ. 2562  กำหนดให้ชำระภายในเดือนสิงหาคมไปเป็นเดือนธันวาคม 2563

ไวรัส-ปิดห้างทำ “ค้าปลีก”  อ่วม  เตรียมยื่นหนังสือขอเยียวยา

3. มิติด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการจ้างงาน ได้แก่ 1.เพื่อชะลอการลดกำลังคน การยกเลิกชั่วโมงล่วงเวลา (OT) ตลอดจนถึงการเลิกจ้างงาน อันเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สมาคมใคร่เสนอให้กระทรวงแรงงาน ประกาศอัตราค่าจ้างงานขั้นต่ำรายชั่วโมง เพื่อที่ภาคธุรกิจสามารถยืดหยุ่นในการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ( กฎหมายระบุ : ตามประกาศคณะกรรมการ การค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฉบับที่ 10 ข้อ 13 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ)  2. เสนอให้สำนักงานประกันสังคม พิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกันที่ต้องนำส่งในช่วงวิกฤตนี้ อาทิ  ให้นายจ้างนิติบุคคลยืดการนำส่งเงินประกันสังคมโดยกำหนดระยะเวลา หรือ งดการนำส่งชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563     

 

4. มิติอื่นๆ ได้แก่ 1. ให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยพิจารณาการได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัยในกรณีธุรกิจหยุดชะงัก(Business Discontinuity) จากผลกระทบการแพร่ระบาดฯของศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า 2. เสนอรัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการร่วมศูนย์ปฎิบัติการ COVID-19 โดยให้มีอำนาจสั่งการในเรื่องเร่งด่วนโดยเฉพาะเพื่อสามารถสั่งการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ในภาวะวิกฤติ โดยมิต้องทำเรื่องร้องขอหรือรอคำสั่งการ 3. มาตรการด้านความปลอดภัย ในช่วงการเพิ่มความเข้มข้นของภาครัฐในการหยุดการแพร่การระบาดของไวรัสควิด ระบบควบคุมอาชญากรรมให้มีความเคร่งครัดขึ้นเพื่อช่วยป้องกันชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชน และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก(จำหน่ายอาหาร)ที่ต้องส่งเงินสดทุกวันในขณะนี้

ไวรัส-ปิดห้างทำ “ค้าปลีก”  อ่วม  เตรียมยื่นหนังสือขอเยียวยา

4. ขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศเลื่อนส่งรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนด 45 วันนับจากปิดรอบบัญชีสิ้นเดือนมีนาคม ออกไปอีก 45 วัน 5.  ขอให้กระทรวงพาณิชย์ ประกาศเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นออกไป (กฎหมายกำหนด 120 วันนับจากวันปิดรอบบัญชี) 6. ในกรณีที่มีการประกาศปิดประเทศ สินค้าที่มีการสั่งซื้อพร้อมส่งมาทางเรือถึงท่าเรือ เรียบร้อยแล้ว ขอให้บริษัทยังสามารถเคลียร์สินค้าจากท่าเรือได้

ไวรัส-ปิดห้างทำ “ค้าปลีก”  อ่วม  เตรียมยื่นหนังสือขอเยียวยา

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งนับเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศซึ่งสร้างรายได้คิดเป็น 16 % ของจีดีพีรวมของประเทศไทย และมีการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 6.2 ล้านคน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอีกกว่า  450,000 ราย