เอทานอลที่ใช้กับรถยนต์ ทำเจลได้หรือไม่?

27 มี.ค. 2563 | 12:55 น.

มาทำความเข้าใจกับการนำแอลกอฮอล์ที่นำมาใช้ทำเจลล้างมือกับแอลกอฮอล์ที่นำไปใช้ผลิตนํ้ามันแก๊สโซฮอล์ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

อยากจะอธิบายแบบวิชาการให้เข้าใจว่าแอลกอฮอล์ที่เอาไปเติมนํ้ามันนั้นมีจุดประสงค์เพื่อผสมในนํ้ามันจริงๆ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า แอลกอฮอล์ที่ว่าคือเอทานอล (แอลกอฮอล์มีหลายชนิด
ครับ ในที่นี้เราใช้เอทานอลครับ และเราได้เอทานอลมาจากการหมักซึ่งก็จะมีนํ้าผสมอยู่ด้วยเราเลยต้องกลั่นเพื่อให้ได้เอทานอลเข้มข้นสูงๆ) ซึ่งเอทานอลที่เอามาเติมในรถยนต์กันนั้นจะใช้เติมได้ก็ต่อเมื่อแอลกอฮอล์มีความบริสุทธิ์สูงมากๆ คือ 99.5% ซึ่งมันน้อยกว่านี้ไม่ได้เดี๋ยวหัวฉีดพัง แล้วมันเกี่ยวยังไงกับการไม่เอามาใช้กับคน

มาทำความเข้าใจกับกระบวนการกลั่นปกติก่อนนะครับ เช่น การกลั่นนํ้าบริสุทธิ์จากนํ้าเค็ม เราสามารถกลั่นไปเรื่อยๆและเราจะได้นํ้าบริสุทธิ์โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอื่นเลย แต่การกลั่นเอทานอลกับนํ้าไม่ใช่สถานการณ์ปกติแบบนั้น ถ้าเรากลั่นเอทานอลผสมนํ้าไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าพอเรากลั่นได้ถึงความเข้มข้นของเอทานอลระดับหนึ่งคือ ประมาณ 95.63% เราจะไม่สามารถแยกนํ้าที่เหลืออยู่ออกจากเอทานอลได้อีก ไม่ว่ากลั่นมันยังไงก็ตาม ก็ได้สัดส่วนเดิมสูงสุดแค่นี้ ซึ่งทำให้เราไม่สามารถกลั่นเอทานอลให้บริสุทธิ์ได้ (ทางวิชาการเรียกว่ามันเป็น Azeotrope - อะซีโอโทรป) ครับ

แต่บริษัทนํ้ามันเหล่านี้ต้องการใช้เอทานอลที่ 99.5% เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องทำลาย Azeotrope ของนํ้ากับเอทานอล ซะ เขาจึงเติมสารเคมีที่เรียกกันว่า entrainer ลงไปซึ่งจะช่วยให้การกลั่นเอทานอลสามารถทำต่อไปได้ และสามารถทำความเข้มข้นเอทานอลได้สูงถึง 99.5% ตามที่บริษัทนํ้ามันต้องการใช้ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวมีหลายชนิด เช่น benzene หรือ cyclohexane เป็นต้น

สมัยก่อนอาจจะใช้ benzene แต่เนื่องจาก benzene เป็น carcinogen หรือสารก่อมะเร็ง เขาเลยเปลี่ยนเป็นสารเคมีชนิดอื่นแทน เช่น cyclohexane เป็นต้น ซึ่งถ้าเอามาใช้ช่วยกลั่นก็แน่นอนว่าสารเคมีเหล่านี้จะติดไปในเอทานอลเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรสำหรับเครื่องยนต์เพราะมันก็เป็นไฮโดรคาร์บอนที่เติมในรถได้อยู่แล้ว ซึ่งเอทานอลที่ผ่านกระบวนการนี้มันก็ไม่ค่อยเหมาะจะใช้กับคนสักเท่าไหร่นั้นก็เป็นเหตุว่าทำไมเขาถึงไม่เอามาใช้ในตอนแรก

อธิบายถึงตรงนี้แล้ว ผมหวังว่าจะพอเข้าใจมากขึ้นนะครับ และตอนนี้รัฐอนุญาตให้เอาเอทานอลที่ผลิตได้ในกระบวนการเพื่อการทำนํ้ามันเชื้อเพลิงมาใช้ฆ่าเชื้อได้ ผู้ผลิตเขาก็เปลี่ยนแปลงเอาเอทานอล 95% ที่กลั่นได้ตามกระบวนการกลั่นปกติมาให้ทำเจลล้างมือกัน โดยตัดกระบวนการเคมีดังกล่าวออกไป ส่วนเรื่องกฎหมายการใช้แอลกอฮอล์ที่มีผลนั้นผมไม่สันทัดสักเท่าไหร่ คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนให้ความรู้ครับ

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2563

เอทานอลที่ใช้กับรถยนต์ ทำเจลได้หรือไม่?