ธปท.เผยผลสำรวจ 63% ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้

24 มี.ค. 2563 | 08:27 น.

“แบงก์ชาติ” เปิดผลสำรวจ ระบุมาตรการปิดสถานที่เสี่ยงไวรัสโควิด-19 กระทบแรงงานเกือบทุกภาคส่วน ส่งผลต่อผู้มีงานทำในสัดส่วน 20% ขณะที่ผู้มีงานทำราว 63% ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ และมีเพียง 6% ที่สามารถทำงานที่บ้านได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือพบปะผู้คน 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้สำรวจข้อมูลและความเห็นของผู้ประกอบการที่ครอบคลุมในแหล่งท่องเที่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 17มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า แรงงานในเกือบทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ค่อนข้างชัดเจน โดย เห็นสัญญาณความเปราะบางกระจายไปยังสาขาบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งการหยุดกิจการชั่วคราวที่เร่งขึ้น รายได้จากการทำงานล่วงเวลา(โอที)ลดลง และการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน

นอกจากนี้ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการพยายามรักษาการจ้างงานไว้และไม่เปิดรับคนเพิ่ม แต่ในอนาคตผู้ประกอบการให้ความเห็นว่า อาจปรับตัวโดยการลดเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ รวมถึงลดเวลาทำงานหรือให้สมัครใจหยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน(Leave without Pay)
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ในอนาคต โควิด-19 จะส่งผลต่อแรงงานกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบริการ และแรงงานในภาคการผลิตจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ธปท. ระบุด้วยว่า โรคโควิด-19 จะกระทบต่อรายได้แรงงานในภาคที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นผู้จ้างงานตนเอง ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่ โดย 20% ของผู้มีงานทำเป็นแรงงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกินกว่าครึ่งที่เป็น ผู้จ้างงานตนเอง ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนเมื่อเทียบกับลูกจ้าง ขณะเดียวกัน โควิด-19 ยังกระทบโดยตรงต่อจังหวัดที่แรงงานจำนวนมากอยู่ในสาขาที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

ธปท.เผยผลสำรวจ 63% ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้



 

นอกจากนี้ ธปท. ยังระบุด้วยว่า มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงชั่วคราวจะส่งผลต่อผู้มีงานทำ 20% ขณะที่การทำงานที่บ้านจะส่งผลกระทบต่อแรงงานส่วนใหญ่ ซึ่งไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยผู้ที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้มีสัดส่วนสูงถึง 63% เป็นผู้ที่ทำงานกับเครื่องมือเฉพาะ หรือ มีงานที่เกี่ยวข้องกับการพบปะผู้คน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิศวกร นายช่างคุมเครื่องจักร เจ้าหน้าที่คุมท่าอากาศยาน เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ธนาคาร หรือ คนขับรถบรรทุก มอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับรถสามล้อ แท็กซี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอีก 20% เช่น ผู้ที่ทำงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นักร้อง นักแสดง บริกร ตามสถานบันเทิงต่างๆ  ส่วนผู้ที่สามารถทำงานที่บ้านได้ มีสัดส่วน 6% เป็นกลุ่มที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการทำงาน สามารถทำงานได้ทุกที่ หรือไม่จำเป็นต้องออกไปพบปะผู้คน เช่น ผู้บริหาร โปรแกรมเมอร์ นักการเงิน 

ธปท.เผยผลสำรวจ 63% ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้