โซลาร์ 6 พันMWส่อวุ่น อีอีซีลงทุนเกินจริง กระทบค่าไฟพุ่ง

07 เม.ย. 2563 | 23:40 น.

กระทรวงพลังงาน ติงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่อีอีซี 6 พันเมกะวัตต์ เกินความจำเป็น ชี้ไฟฟ้ามีเพียงพอ กฟผ.ก่อสร้างสายส่งเสริมความมั่นคงแล้ว เผยยังไม่มีบรรจุในแผนพีดีพี หากลงทุนเองใช้เองไม่มีปัญหา แต่หากขายเข้าระบบค่าไฟฟ้าต้องไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย

การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในระยะ 20 ปีข้างหน้า จะมีผลต่อการขยายฐานกิจกรรมทางอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาด้านสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาเมือง ซึ่งจะเพิ่มธุรกิจและจำนวนประชากรในพื้นที่มากขึ้น โดยอีอีซีประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 6,526 เมกะวัตต์ เป็นประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างการผลิตไฟฟ้าขึ้นรองรับความต้องการให้เพียงพอนั้น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา จึงเห็นชอบในหลักการโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) พื้นที่อีอีซี ในสัดส่วน 30% ของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ทั้งนี้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ไปเสนอกระทรวงพลังงาน ให้นำเข้าบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือพีดีพี (PDP) และให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราราคาไฟฟ้าที่ เหมาะสมที่จะรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

โซลาร์ 6 พันMWส่อวุ่น อีอีซีลงทุนเกินจริง กระทบค่าไฟพุ่ง

การดำเนินงานระยะแรก จะเป็นระยะทดลองให้มีการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนโครงการประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และในระยะต่อไปจะขยายถึง 30% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด หรือราว 6 พันเมกะวัตต์ โดยให้บริษัท พีอีเอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ลงทุน และให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เป็นหน่วยงานหลักในการรับซื้อ และส่งจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ในพื้นที่อีอีซี

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แม้ว่าจะบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ไปเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่กำหนดไว้ 8,740 เมกะวัตต์ กระจายตาม พื้นที่ต่างๆ แต่ในส่วนของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่อีอีซี 500 เมกะวัตต์ นั้น ที่ผ่านมาทางอีอีซีไม่มีการหารือในช่วงที่จัดทำแผนพีดีพี จึงไม่มีกำลังผลิตส่วนนี้บรรจุไว้ หากจะผลักดันเรื่องนี้จำเป็นต้องปรับแผนพีดีพีขึ้นมาใหม่

อีกทั้งมองว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าของภาคตะวันออกมีมากเกินความต้องการอยู่แล้ว และยังเหลือใช้ออกไปอีกหลายปี ประกอบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ลงทุนก่อสร้างสายส่งเพื่อเสริมความมั่นคงของไฟฟ้าภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญการประมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออก ที่จัดทำพีดีพีระบุไว้เพียง 10,033 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นปี 2580 ดังนั้นการจะลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์จะเกินความจำเป็น และจะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากจะมีการผลักดันให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ถ้าผลิตเองใช้เองคงไม่มีปัญหา เพราะหากมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบ จะส่งผลให้ต้องไปลดการผลิตไฟฟ้าของเชื้อเพลิงต่างๆ ลงมา ซึ่งจะกระทบต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เป็นภาระต่อภาคประชาชน หากจะไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว ค่าไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องรับซื้อไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งกฟภ.รับราคานี้ได้หรือไม่ที่จะเดินหน้าลงทุน

 

โซลาร์ 6 พันMWส่อวุ่น อีอีซีลงทุนเกินจริง กระทบค่าไฟพุ่ง