“บีซีพีจี” ล็อคดาวน์โรงไฟฟ้าทั่วประเทศ

24 มี.ค. 2563 | 08:11 น.

บีซีพีจี ออกมาตรการเพิ่มเติม ปิดการเข้า-ออก โรงไฟฟ้าของบีซีพีจีทั่วประเทศเป็นเวลา 1 เดือน ป้องกันความเสี่ยงของพนักงานและธุรกิจ จากผลกระทบของโควิด-19

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงของผลกระทบจากโควิด-19 ที่อาจจะมีผลต่อพนักงานและธุรกิจ บีซีพีจีได้ออกมาตรการเพิ่มเติม ภายใต้กรอบการบริหารความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ ( Business Continuity Management)  โดยการล็อคดาวน์ หรือ ปิดการเข้า-ออกโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ ทั่วประเทศ  จัดให้มีเฉพาะพนักงานประจำที่โรงไฟฟ้า เท่าที่จำเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 เดือน

“บีซีพีจี” ล็อคดาวน์โรงไฟฟ้าทั่วประเทศ

                                       นายบัณฑิต สะเพียรชัย

“หลังจากที่บริษัทฯ ได้ออกมาตรการ work from home สำหรับพนักงานที่สำนักงานใหญ่ อาคาร เอ็ม ทาวเวอร์ และ ที่บางปะอิน รววมถึงการทำประกันคุ้มครองการติดเชื้อไวรัส โควิด- 19 ให้กับพนักงานทุกคนไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น ล่าสุด บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมภายใต้กรอบการบริหารความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการปิดการติดต่อระหว่างโรงไฟฟ้ากับบุคคลภายนอก โดยให้มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย วิศวกร และ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคจำนวน 2 คนต่อโรงไฟฟ้า ประจำการ 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 1 เดือน”

 

“บีซีพีจี” ล็อคดาวน์โรงไฟฟ้าทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนของการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับงานของโรงไฟฟ้าที่ล็อคดาวน์ บริษัทฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่อีก 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ในรูปแบบ work from home

 

“บริษัทได้จัดให้มีหน่วยสนับสนุน เพื่อดูแลด้านอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ ให้มีความสะอาดปลอดภัย และดูแลความเป็นอยู่ ด้านจิตใจ และความแข็งแรงของร่างกายของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ  เพราะพนักงานคือสิ่งสำคัญ บริษัทฯ จึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้พนักงานปลอดภัยและบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง”

 

ปัจจุบันบริษัท มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  ตั้งอยู่ใน 9 จังหวัดของประเทศไทย ประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร และธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 192 เมกะวัตต์