ชง1.5-2ล้านล้านดอลล์ อัดแพ็กเกจพยุงศก.สหรัฐ

25 มี.ค. 2563 | 00:30 น.

 

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ส่งผลกระทบรุนแรงไปยังหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกทั้งในภาคบริการและภาคการผลิต “บริดจ์วอเตอร์ แอสโซชิเอทส์” ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่สุดในโลก ประเมินสถานการณ์ว่า วิกฤติดังกล่าวรวมทั้งการประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของภาครัฐ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอกชนของสหรัฐฯ และสร้างความสูญเสียได้มากถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ความสูญเสียของธุรกิจเอกชนทั่วโลกอาจจะสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์

 

นายเรย์ เดลิโอ ผู้ก่อตั้งบริษัท บริดจ์วอเตอร์ แอสโซชิเอทส์ ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก บริหารสินทรัพย์มากกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5.1 ล้านล้านบาท (ณ ปี 2562) ให้ตัวเลขประมาณการว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่“โควิด-19” อาจสร้างความเสียหายทางธุรกิจให้กับบริษัทเอกชนของสหรัฐอเมริกาเป็นมูลค่าถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 128 ล้านล้านบาท ขณะที่ความเสียหายของบริษัทเอกชนทั่วโลกจากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ จะแตะ 12 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 384 ล้านล้านบาท

ชง1.5-2ล้านล้านดอลล์ อัดแพ็กเกจพยุงศก.สหรัฐ

“นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงชีวิตของพวกเรา สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้คือภาวะวิกฤติ และต้องยอมรับว่าจะมีผู้ที่ต้องสูญเสียอย่างมากมายมหาศาล คนจำนวนมากจะล้มละลาย รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มเทงบก้อนใหญ่มากๆ เข้าช่วยเหลือ” โดยส่วนตัวแล้วเขาคิดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองสหรัฐฯให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ที่รัฐบาลสหรัฐฯกำลังนำเสนอผ่านกระบวนการอนุมัติทางรัฐสภา ควรจะต้องเป็นแพ็กเกจใหญ่วงเงินอย่างน้อย 1.5-2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออย่างน้อย 48-64 ล้านล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่ารูปแบบของความช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร เช่นเป็นเงินสินเชื่อหรือการค้ำประกันเงินกู้

 

ในปีที่ผ่านมา (2562) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯมีมูลค่ากว่า 21 ล้านล้านดอลลาร์ หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้เอกชนต้องสูญเสียถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ ก็จะส่งผลอย่างมากต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

 

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯได้ยื่นเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจเอกชน แต่จนถึงขณะนี้ (อังคารที่ 24 มีนาคม) ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ผ่านการอนุมัติ ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศแผนคิวอีชุดใหญ่ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นได้พยายามพยุงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินเพิ่มเติม 1 ล้านล้านดอลลาร์ ผ่านการซื้อพันธบัตรและหลักทรัพย์อื่นๆ นอกจากนี้ ยังช่วยผ่อนภาระให้กับธุรกิจเอกชนด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 0%

 

ในส่วนของบริดจ์วอเตอร์ฯเอง ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ที่สุดในโลกมีมูลค่าสินทรัพย์ที่บริหารเมื่อปีที่ผ่านมา 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 5.1 ล้านล้านบาท ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเทขายอย่างตื่นตระหนกของนักลงทุน ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลงไป 10-20%

 

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2563

ชง1.5-2ล้านล้านดอลล์ อัดแพ็กเกจพยุงศก.สหรัฐ