แนวโน้มใหญ่: โรคระบาดกับการอพยพของแรงงานครั้งสำคัญ

23 มี.ค. 2563 | 05:35 น.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.” [email protected]

 

อาการสั่นคลอนและอ่อนไหวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัส Covid-19 จะเริ่มต้นขึ้น จากความไม่สมดุลของภาวะการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ความขัดแย้งการการเมือง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการลักลอบอพยพของแรงงานและประชากรจากประเทศด้อยพัฒนาสู่ประเทศพัฒนาแล้ว 

ในขณะเดียวกันปัญหาค่าครองชีพและสังคมผู้สูงอายุ ก็ทำให้ประชากรจากประเทศพัฒนาแล้วอพยพสู่ประเทศกำลังพัฒนา เกิดการเคลื่อนที่ของพลเมืองโลก ซึ่งหากนับรวมจำนวนแรงงานทักษะจากประเทศเกิดใหม่ ที่ไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกแล้ว สะท้อนให้เห็นภาพของการอพยพและการสร้างชุมชนใหม่มากยิ่งขึ้น 

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างคือ นโยบาย America First ของประธานาธิบดี Donald Trump และการ Brexit ของสหราชอาณาจักร  มาจากฐานของแรงงานต่างด้าวอพยพในประเทศ 

นอกจากนี้กำลังซื้อจากประเทศกำลังพัฒนา ไม่สามารถปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำและการบริหารจัดการด้านอุปทานสมัยใหม่ที่สั้นลง ใช้สัดส่วนของแรงงานต่อทุนเทคโนโลยีน้อยลง ทำให้เกิดผลผลิตส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจมีมหาศาล และภาวะดอกเบี้ยต่ำ เงินเฟ้อต่ำ เศรษฐกิจรอวันจะถดถอยใหญ่อยู่รอมร่อ Covid-19 จึงเป็นเหมือนผู้ร้ายที่มาทำให้ฝีแตก ทำให้การฝืนต่อไปแบบถูลู่ถูกังของเศรษฐกิจโลกมีทางลง แต่ไม่ใช่ Soft Landing แต่นี่คือ Hard Landing ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจและสังคมโลก รวมทั้งประเทศไทยไปตลอดกาล

บางทีการอพยพครั้งใหญ่ของของมวลมนุษย์ชาติในศตวรรษที่ 21 กำลังเริ่มต้นขึ้นหลังจากการระบาดใหญ่ เมื่อสังคมผู้สูงอายุและรัฐสวัสดิการของยุโรปไม่อาจจะตอบโจทย์ของความเสี่ยงต่อการระบาดใหญ่ที่มีผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่พร้อมกันเป็นจำนวนมาก 

โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุหลังเกษียณอาจจะไม่พอทั้งปริมาณและคุณภาพ จากความคิดหวังเมื่อทำงานและเสียภาษีในอัตราที่สูงเกือบร้อยละ 50 ของรายได้ในช่วงวัยทำงาน กับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับกลับตรงกันข้าม 

เมื่อการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อของการทำงานในยุคปัจจุบันและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ขยับมาทางศตวรรษแห่งเอเชีย พร้อมกับปัจจัยแวดล้อมและคุณภาพชีวิตในเอเชียที่ดีขึ้น ทำให้มีแนวโน้มเกิดการเคลื่อนที่ของประชากรโลก เพื่อหลีกหนีจากโรคอุบัติใหม่และแสวงหารัฐสวัสดิการแห่งใหม่ เป้าหมายน่าจะอยู่ในพื้นที่อบอุ่น เขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารและธรรมชาติที่เป็นศัตรูกับเชื้อโรคผู้รุกราน

โรคระบาดจะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เร่งและกระตุ้นให้เกิดปัจจัยแวดล้อม (ecosystem) ด้านต่างๆ แต่รูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ไม่ได้เอื้อต่อการจ้างงานในรูปแบบเก่า การผลิตและบริการที่เปลี่ยนโครงสร้างของปัจจัยการผลิตไป ในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น 

ด้านสาธารณสุขใหม่ ทั้งในส่วนของการป้องกัน การให้ความรู้ และการเยียวยา แฟลตฟอร์มหรือรูปแบบอิเลิกทรอนิกส์เฉพาะด้าน (platform) ที่ส่งต่อและถูกกำหนดโดยซอฟแวร์ (software) จะเป็นศูนย์กลางของการทำงานและการใช้ชีวิต และเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง ล้วนแล้วแต่ต้องการระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งระบบเตือนภัย และระบบป้องกันที่มีการยกระดับขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ

ด้านการศึกษาใหม่ เมื่อวิกฤตทำให้สามารถเปรียบเทียบคุณภาพและความคล่องตัว ระหว่าง Conventional และ Home Base Learning (HBL) หน้าที่ของดิจิตัลจึงไม่ได้หยุดอยู่ที่ข้อมูล (data) และสารสนเทศ (information) เท่านั้น แต่กำลังก้าวข้ามไปสู้ความรู้ (knowledge) และปัญญา (wisdom) สำหรับอนาคตแล้ว

ด้านการพัฒนาและการสร้างเมืองใหม่ ประเด็นความแออัด ชุมชน โครงสร้างของสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ จะต้องถูกออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีพื้นที่การรองรับความเสี่ยงด้านอุบัติภัยด้านการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น การสร้างพื้นที่สาธารณะที่มีอัตราการใช้ประโยชน์ร่วมกันสูงสุด (utilization rate) เพื่อลดภาระทางงบประมาณและการจำกัดกลุ่มผู้รับบริการให้อยู่ในกลุ่มเฉพาะจากทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น

ด้านความมั่นคงใหม่ งบประมาณที่ลงทุนเพื่อป้องกันประเทศด้วยอาวุธ ด้วยกองกำลัง ต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมด การเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุด้านความมั่นคงในทุกด้านต้องอาศัยเครือข่ายที่ทำงานในเชิงพื้นที่บวกกับการจัดทำฐานข้อมูลบุคคลที่ระบุความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อเป็นกลไกในการควบคุมและสร้างความมั่นใจให้แก่คนในพื้นที่

ด้านงบประมาณใหม่ การกลับมาของแนวคิดเศรษฐกิจที่มีบทบาทของภาครัฐเป็นปัจจัยนำ (Keynesian) ในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น การเพิ่มงบประมาณรายจ่ายจำนวนมหาศาลในช่วงที่เกิดภาวะกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ย่อมได้ผลน้อยกว่าในยามปกติ และอาจจะไม่สามารถดูดซับความรุนแรงได้มากนัก ความร่วมมือจากนโยบายการเงินที่ได้ผลมากที่สุดต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องการอาศัยการอ่อนค่าของเงินบาท เพื่อช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของสินค้าและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจใหม่เกิดขึ้น บวกกับความล่าช้าของการฟื้นตัวของประเทศไทย แรงงานต่างด้าวและแรงงานนอกระบบในมหานครและเมืองท่องเที่ยวใหญ่จะเป็นกลุ่มแรกที่ถึงคราอพยพ จากภาคบริการ ท่องเที่ยว ขนส่ง ค้าปลีก ที่เคยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในยุคทองของนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวเอเชีย และดึงแรงงานจากภาคเกษตรกรรมไปกว่า 3 ล้านคน ในช่วงปี พ.ศ.2558 - 2562 แต่การกลับไปภูมิลำเนาในสถานการณ์ของภาคเกษตรที่อ่อนกำลัง คงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักในการที่จะเริ่มต้นใหม่ เพราะข้อจำกัดของภาคเกษตรของไทยที่เปลี่ยนรูปแบบของการทำงานและการตลาดไปมากแล้ว บางครั้งการกลับมาของ “ผีน้อย” อาจจะไม่ได้กลับไปอีกเลย

การอพยพครั้งนี้ทำให้เกิดภาวะ “ก้าวต่อไปก็ไม่ได้ ถอยห่างออกไปก็ถูกลืม”  ชนบทอาจจะงดงามในระยะยาว เมื่อคนต่างถิ่นเดินทางมาเยี่ยมเยือนนานๆ ครั้ง แต่การกระจายรายได้กระจุกอยู่ภายในบริเวณสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ ไม่ถึงตลาดสดและชุมชน เมื่อคิดจะตั้งรกรากเริ่มต้นอาชีพใหม่ ก็ปราศจากภูมิคุ้มกัน อาการหายใจรวยรินของเศรษฐกิจไทยของชนชั้นแรงงานอพยพนอกระบบ ไม่มีบริษัทประกันใดกล้าคุ้มครองจริงๆ