GC จับมือ ทส. ปั้นโมเดลจัดการขยะอุทยานทั่วประเทศ

21 มี.ค. 2563 | 08:30 น.

พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ผนึกกำลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” หวังสนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดันเป้าหมายการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รทว.ทส.) เปิดเผยว่า ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” ระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) 


โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงรุก ที่เป็นไปตาม Roadmapการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ในการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อจัดระบบอนุรักษ์ฟื้นฟูและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ 

GC จับมือ ทส. ปั้นโมเดลจัดการขยะอุทยานทั่วประเทศ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. กล่าวว่า กรอบความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวกับ GC มีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่มีนาคม 2563 ไปจนถึง มีนาคม 2564 ที่จะดำเนินงานในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่นำกลับมารีไซเคิลได้ยาก 

 

ด้านการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหรืออัพไซเคิลจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า และ ด้านการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการใช้และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในสังคมโดยจะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นเป็นรูปธรรม

GC จับมือ ทส. ปั้นโมเดลจัดการขยะอุทยานทั่วประเทศ

นายคงกระพัน  อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วย Circular Economy พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ และดำเนินงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ในการจัดการขยะพลาสติกแบบยั่งยืนในพื้นที่อุทยานฯ ซึ่ง GC ได้มีการพัฒนาระบบ(Platform) เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมตลอดห่วงโซ่อุปทานในด้านต่างๆ  ครอบคลุม 4 ด้าน ประกอบไปด้วย 

 

1. ไบโอเบส  มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ไบโอที่สลายตัวได้ด้วยการฝังกลบ 2 .ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปิโตรเลียม มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบ นำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล   หรือ อัพไซเคิล 3.  อีโคซิสเต็ม สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน การตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลาสติก  4. GC จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้า SMEs สามารถปรับตัวกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ซึ่งมีแนวร่วมสำคัญจากพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด  (มหาชน )  หรือTPBI และ ฟาร์มดี 

 

 

 

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า อส. ได้คัดเลือกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานโครงการครั้งนี้ และจะขยายผลไปยังอุทยานแห่งชาติ อีกจำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานทางบก 6 แห่ง ได้แก่ 1.อุทยาน-แห่งชาติอินทนนท์ 2. อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 3. อุทยานแห่งชาติเขาสก อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก 4.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 5. อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย 6. อุทยานทางทะเล 7 แห่ง ได้แก่ 1. อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด 2.อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 3. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6.อุทยานแห่งชาติ  ตะรุเตา 7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติต้นแบบให้กับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศต่อไป

GC จับมือ ทส. ปั้นโมเดลจัดการขยะอุทยานทั่วประเทศ

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คพ.พร้อมให้การสนับสนุนทางวิชาการในการดำเนินโครงการฯ เพื่อส่งเสริมการจัดเก็บและแยกขยะถุงและฟิล์มพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (PE) และพอลิโพรไพลีน (PP) รวมถึงบริหารจัดการถุงและฟิล์มพลาสติกชนิด PE และ PP ให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่อุทยานแห่งชาตินำร่องอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อการดำเนินโครงการต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ  

สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ มีเป้าหมายที่ 1 คือ ลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ชนิด ในปี 2562 ได้แก่ แคปซีล พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีด และ 4 ชนิด ในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง โฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก(แบบบาง) และหลอดพลาสติก และเป้าหมายที่ 2 คือ การนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ร้อยละ 100 ภายในปี 2570