“ธีรชัย”ออกโรงเตือนคลัง- ธปท. ระวังตลาดตราสารหนี้!

21 มี.ค. 2563 | 06:40 น.

หลังบลจ.ทหารไทย ออกประกาศไม่รับซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่พอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ มีผลวันนี้

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เพจ “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า คลังกับ ธปท. ต้องระวังตลาดตราสารหนี้!

บลจ.ทหารไทย ออกประกาศไม่รับซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่พอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ มีผลตั้งแต่วันนี้ (20 มี.ค.)

นี่เป็นเรื่องใหญ่มากครับ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะในประเทศไทยมีกองทุนรวมมากมาย ที่พอร์ตได้ลงทุนไว้ในตราสารหนี้

ขณะนี้ตราสารหนี้บางตัว กำลังเผชิญปัญหา ราคาตลาดอาจจะร่วงอย่างหนัก เพราะสถานการณ์โควิด ทำให้บางบริษัทผู้ออกตราสารหนี้รายได้หด เช่น จากการท่องเที่ยวหดตัว จากไม่สามารถส่งออกสินค้า หรือจากไม่สามารถหาซื้อวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนจากจีน หรือเจ้าของศูนย์การค้าจะเก็บค่าเช่าไม่ได้

ส่วนผู้ออกที่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์บริหารเศรษฐกิจนำไปสู่ฟองสบู่ในธุรกิจนี้มาต่อเนื่องหลายปี ซัพพลายคอนโดที่เตรียมไว้ขายคนจีน ขณะนี้ไม่สดใส บ้านตากอากาศหรูที่เตรียมไว้ขายฝรั่ง คงต้องรอไปอีกนาน

ดังนั้น ผู้ซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ อาจกำลังหวั่นใจว่า เมื่อครบกำหนด บริษัทผู้ออกตราสารหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้ซื้อจึงกดราคาลงไป กองทุนจึงไม่สามารถขายตราสารหนี้ออกไปได้ง่าย เพราะถ้าขาย ก็จะขาดทุนหนัก

นี่คือปัญหาที่คณะกรรมการนโยบายการเงินพยายามสื่อถึง ธปท. กระทรวงคลัง และพลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ปัญหาคือ ตลาดตราสารหนี้อาจกำลังจะหลอมละลาย (meltdown) !!! และถ้าหัวหน้าหน่วยงานทั้งสามคน ไม่ลืมตาตื่นขึ้นดูกระแสพายุที่กำลังตั้งเค้า ความเชื่อมั่นก็อาจจะกระเจิง

อาจจะกระเจิง ทั้งในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้

สัปดาห์หน้า อาจจะเป็นวันเริ่มต้นบอกเหตุ เพราะเมื่อ บลจ.ทหารไทย เริ่มต้นแล้ว กล่อง Pandora box ก็จะเปิดฝาขึ้น บลจ.อื่นๆ จะไม่ทำตามได้หรือ?

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา นายธีระชัยได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง ในหัวข้อ “ทหารไทยยกเลิกประกาศไม่รับซื้อหน่วยลงทุน” พร้อมย้ำถึง ปัญหาตลาดตราสารหนี้แกว่งตัว ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นักลงทุนที่ไม่ได้เน้นเก็งกำไรหุ้น แต่วางแผนลงทุนเพื่อดอกเบี้ย จะเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่กองทุนชนิดนี้ ตั้งจุดขายความเสี่ยงต่างกัน กลุ่มที่เสี่ยงน้อย ก็จะลงทุนพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นเป็นหลัก ต้นเงินปลอดภัยแต่ผลตอบแทนต่ำ กลุ่มที่เสี่ยงมากขึ้น ก็จะขยายไปถึงตราสารหนี้เอกชน ยิ่งเกรดต่ำ ดอกเบี้ยก็ยิ่งสูง

ตลาดตราสารหนี้ของไทยมีความอ่อนไหวได้ง่าย เพราะตลอดเวลารัฐบาล คสช. ไม่ได้กั้นเงินทุนไหลเข้า ซึ่งนอกจากดันเงินบาทให้แข็งแล้ว ตลาดตราสารหนี้ที่คล่องตัวยังเปิดให้เอกชนออกตราสารหนี้ นำเอาเงินนี้ไปใช้อีกด้วย

รัฐบาลไม่ได้ฉวยโอกาสออกพันธบัตร เพื่อเอาเงินไหลเข้าไปใช้บูมโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มหลักกลุ่มหนึ่งที่ออกตราสารหนี้เอาเงินไปใช้ คือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้น เมื่อใดที่เกิดภาพพจน์ซัพพลายคอนโดล้นตลาด นักลงทุนก็จะจ้องมองตราสารหนี้กลุ่มนี้ใกล้ชิดเป็นพิเศษ

ไข้โควิดกระทบต่อกำลังซื้อคอนโดในไทย ทั้งลูกค้าชาวจีน และชาวตะวันตก จึงย่อมทำให้นักลงทุนอ่อนไหวอยู่แล้ว แต่การรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ร้านค้าปลีกขาดทุน กระทบต่อความสามารถจ่ายค่าเช่า ก็เป็นปัญหาแทรกซ้อนเข้ามาอีกด้านหนึ่ง

ประกาศ บลจ.ทหารไทยฉบับแรก จึงสะท้อนปัญหาว่า เมื่อราคาตราสารหนี้ลดลงมาก มูลค่าต่อหน่วยลงทุนก็ลดลงอยู่แล้ว แต่ถ้าผู้ถือหน่วยต้องการ cash out บลจ.ก็จะต้องขายตราสารหนี้ออกไป ก็จะยิ่งกดให้ราคาตราสารหนี้ต่ำลงไปอีก จึงได้ประกาศไม่รับซื้อ เพื่อจะให้นักลงทุนหยุด cash out ชั่วคราว

แต่ภายหลัง บลจ.ทหารไทยได้ออกประกาศฉบับที่สอง ยกเลิกฉบับแรก เป็นอันว่า บลจ.จะยังเปิดให้ผู้ถือหน่วย cash out

แต่ปัญหาตลาดตราสารหนี้แกว่งตัว ยังไม่ได้รับการแก้ไข และในระยะใกล้ข้างหน้า หลายตลาดทั่วโลกจะยังขาดเสถียรภาพ โดยเฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

เริ่มต้นสัปดาห์หน้า นักลงทุนทั้งในตราสารหนี้ และตลาดหุ้น จึงต้องติดตามว่า รัฐบาลไทยจะมีนโยบายรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงิน หรือไม่ อย่างไร

“ธีรชัย”ออกโรงเตือนคลัง- ธปท. ระวังตลาดตราสารหนี้!