มาตรการคุมโคโรนา ‘ระยะ 3’ ‘ปิด-กัก-ห้ามเข้า’ เข้มเต็มพิกัด

21 มี.ค. 2563 | 08:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3559 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-25 มี.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          ความหวาดวิตกจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ได้แผ่ขยายออกไปยังครอบครัวคนไทยทุกหย่อมหญ้า ผู้คนต่างมองว่า “รัฐบาลหน่อมแน้ม-แก้ปัญหาวิกฤติไม่เป็น” และมีการเรียกร้องให้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดของโรคในระยะ 3” ซึ่งจะนำไปสู่การ “ปิดประเทศ” โดยไม่สนใจว่ากระบวนการและวิธีการนั้นจะกระทบวงกว้างแค่ไหน

          ถ้าพิจารณาตามข้อมูลทางวิชาการ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยบอกว่า โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ระยะ 3 คือแพร่กระจายระดับชุมชน ระดับจำนวนมากในเวลาสั้นๆ มีการแพร่ระบาดในวงกว้างจำนวนมากๆ และแพร่หลายทอด...แต่ตอนนี้บ้านเรายังไปไม่ถึง แต่เข้าใกล้มากๆ

          ต่อมาถามว่าทำไมไม่ปิดกรุงเทพฯ หมอพรเทพบอกว่า “ถ้าจำนวนคนป่วยถึง 500 นะ เพราะเป็นจุดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ถ้าคนป่วยจากการติดเชื้อทะลุ 500 คนจะถือว่ามากเกินไป ก็จะมาถึงจุดนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่ต้องปิด มาตรการที่ท่านนายกฯ จะประชุมกันคือจะดูจากเบาไปหาหนัก และไม่ให้กระทบชีวิตประจำวันประชาชนมากนัก”

          ข้อแนะนำของหมอพรเทพคือ ตอนนี้ขอให้ฟังนายกฯ คนเดียวเลย อย่าไปฟังเฟกนิวส์ คนหวังดีประสงค์ร้ายเยอะแยะ เราอย่าไปฟัง ขอให้ฟังนายกฯ คนเดียวเลย ภาวะผู้นำท่านมีอยู่แล้ว เดี๋ยวท่านจะบอกหนึ่งสองสามสี่ ในภาวะวิกฤติของชาติ ต้องฟังผู้นำคนเดียว ถ้าไปหลงทิศหลงทางเดี๋ยวตีกันเอง...ผมว่า หมอพรเทพพูดชัดนะครับ เรายังไม่ถึงจุดนั้น

 

          หลายคนไม่รู้ว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการสำหรับระยะ 3 ซึ่งหมายถึงการระบาดอย่างรวดเร็วและจะมีคนติดเชื้อนับล้านคนในเวลาปีเดียวไว้แล้ว เพราะตอนนี้โรคไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ “โควิด-19” ขยายการแพร่ระบาดออกไปแล้ว 28 จังหวัดแล้ว

          ผมพามาดูแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคี เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นมาตรการ “ระยะ 3” ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ และกรมควบคุมโรคได้เสนอให้รัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาไปแล้ว

​​​​​​​          แผนชุดนี้มีเป้าหมาย 3 เรื่องคือ 1. ลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทยและชะลอการระบาด 2. ทำให้คนไทยปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 3. ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ

​​​​​​​          มาตรการในระยะที่ 3 ในส่วนที่เพิ่มเติมจากมาตรการที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในระยะที่ 1 และ 2 เน้นที่การชะลอการระบาด ลดผลกระทบ รักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ โดยคงไว้ซึ่งระบบบริการประชาชน เช่น สถานพยาบาล สาธารณูปโภค ระบบขนส่งสาธารณะ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มาตรการตามเป้าหมาย จะมีดังนี้

​​​​​​​          มาตรการที่ 1 เพื่อลดการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทย

​​​​​​​          ทางเลือกที่ 1 ดำเนินการระดับเข้มข้นที่สุด : ห้ามการเดินทางเข้าออกจากประเทศที่มีการระบาด

​​​​​​​          ทางเลือกที่ 2 ยังอนุญาตให้มีการเดินทางได้ แต่ควรมีมาตรการที่เข้มข้นคือ ให้ประชาชนเลี่ยงหรืองดการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่พบการระบาดในต่างประเทศ

​​​​​​​          กักกัน ผู้ที่เดินทางทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคในประเทศ (มีทางเลือกได้ 2 ทางคือ การกักกันที่บ้านด้วยตัวเอง หรือการกักกันในสถานที่ที่ทางราชการกำหนด) และเฝ้าระวังติดตามอาการของผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด​​​​​​​

 

          มาตรการที่ 2 การชะลอการระบาด จะต้องจัดเตรียมความพร้อมและป้องกันการระบาดทั้งระดับบุคคลและองค์กร

          สร้างความรอบรู้ด้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในมิติต่างๆ ที่สำคัญให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคน ได้แก่ การป้องกันการติดเชื้อ การปฏิบัติตัวขณะป่วย และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

​​​​​​​          - ลดความตระหนกของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารความเสี่ยง ให้ข้อมูลที่ถูกต้องทันเวลา จัดการข่าวลือ/ข่าวปลอมในสื่อสาธารณะอย่างเหมาะสม และต้องรณรงค์การใส่หน้ากากผ้าในกลุ่มอาชีพเสี่ยงแบบเต็มรูปแบบ

​​​​​​​          ​​​​​​​- ส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการประชาชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ขนส่งมวลชน ศาสนสถาน สถานศึกษา สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการประชาชน จัดสิ่งแวดล้อมที่ลดการแพร่กระจายเชื้อ และจัดทำมาตรการป้องกันโรคในกลุ่มผู้มาใช้บริการ เช่น วางเจลล้างมือสำหรับผู้มาใช้บริการ และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่างๆ

​​​​​​​          ​​​​​​​- สนับสนุนให้ทุกองค์กรจัดทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดภายในองค์กร เพื่อป้องกันบุคลากรขององค์กรไม่ให้ติดเชื้อ และจัดทำแผนประคองกิจการตามความเหมาะสม

​​​​​​​          ​​​​​​​- เลื่อน หรือยกเลิกกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก ได้แก่ การประชุมสัมมนา งานกีฬา งานแสดงสินค้า งานแฟร์ต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี (งานสงกรานต์ อุปสมบทหมู่) หากจำเป็นต้องจัดงาน ผู้จัดจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

​​​​​​​          ​​​​​​​- ป้องกันและควบคุมการเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มประชากรที่สำคัญ ได้แก่ ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โดยการงดการจัดกิจกรรมการรวมตัวกันของผู้คน งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามพื้นที่ ให้มีผู้ประสานงานประจำหน่วยงานด้านการป้องกันควบคุมโรค และให้มีการสอบสวนควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว

​​​​​​​          ​​​​​​​- ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถทำงานอยู่ที่บ้าน (work from home) ได้

​​​​​​​          ​​​​​​​- ส่งเสริมการทำธุรกรรมและการซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ต

​​​​​​​          ​​​​​​​- พิจารณาประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (ตาม พ.ร.บ. ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย) ตามความเหมาะสม

​​​​​​​          สำหรับพื้นที่ที่พบการระบาดต้องดำเนินการทันที ผ่านวิธีการที่เข้มข้นมากคือ ต้องปิดสถานที่ สถานที่ทำงาน หรือชุมชนที่พบการระบาด ห้ามการเดินทางเข้าออก โดยใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และให้บุคลากรของสถานที่ที่พบการระบาดสามารถทำงานจากบ้านได้

​​​​​​​          ส่วนมาตรการจัดการกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีทางเลือกได้แก่ การกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (มีทางเลือกได้ 3 ทางคือ การกักกันที่บ้านด้วยตัวเอง การกักกันในสถานที่ที่ทางราชการกำหนด) หรือการให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเฝ้าระวังอาการของตนเองและรายงานตัวให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทราบเมื่อมีอาการป่วย

​​​​​​​          ให้ประชาชนในพื้นที่ที่พบมีการระบาดของโรคเฝ้าระวังอาการตนเองทุกวัน และต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่หากมีอาการป่วยทันที ไม่ทำถือว่าผิด

​​​​​​​          ทั้งนี้ มาตรการทางสังคม โดยเฉพาะการยกเลิกกิจกรรมรวมคนจำนวนมากเพื่อลดโอกาสการสัมผัสโรค ควรดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป อาจเริ่มจาก 8 จังหวัดเสี่ยงสูง และขยายพื้นที่ไปตามสถานการณ์การระบาด

​​​​​​​          ตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานคร หากไม่มีมาตรการเชิงรุก เพื่อชะลอการระบาดภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 สถานการณ์จะไปสู่จุดที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ และจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

​​​​​​​          ชัดมั้ย! ฉบับหน้า ผมจะพามาดูมาตรการในการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจหากเข้าสู่ระยะ 3