เมื่อมังกรวัดรอยเท้าพญาอินทรีย์ ในสงครามเย็นยุคดิจิทัล (จบ)

22 มี.ค. 2563 | 02:35 น.

 

คอลัมน์ มังกรกระพือปีก 

โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,559 วันที่ 22-25 มีนาคม 2563

 

Made in China 2025

การแปรวิกฤติเป็นโอกาสของจีน

ในอดีต การใช้ชีวิตในจีนไม่ใช่สิ่งที่สะดวกจนถึงลำบากแสนเข็น ด้วยระบอบสังคมนิยมและประชากรที่มีจำนวนมากทำให้รัฐบาลจีนต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการภาครัฐเพื่อรองรับความต้องการที่มากมายมหาศาล แต่ความท้าทายนี้ก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลจีนย่อท้อแต่ประการใด แถมยังดำเนินนโยบายและทุ่มเททรัพยากรเพื่อปรับปรุงหลายสิ่งอยู่ตลอดเวลา

จนกระทั่งในปี 2015 เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มเดินหน้าพัฒนาระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีระดับสูงตามนโยบาย Made in China 2025 จีนมุ่งเน้นกับการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาจีนสู่โลกอนาคต อาทิ การเกษตรชีวภาพ วัสดุใหม่ หุ่นยนต์ การค้าออนไลน์ โลจิสติกส์ พลังงานทดแทน และอื่นๆ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้สัดส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำโลกด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง เรือดำนํ้า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ โดรน อากาศยานและจานดาวเทียม รวมทั้งจุดจำหน่ายสินค้าไร้คน และตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine)

จีนไม่หยุดเพียงแค่นั้น แต่ยกระดับสู่การเป็นผู้นำโลกในระบบ 5G ซึ่งเริ่มอนุญาตให้ใช้ในเชิงพาณิชย์เมื่อกลางปีก่อน และลบภาพการเป็นผู้ตามในระบบ 2G-4G ตลอดหลายปีที่ผ่านมาลงได้

ระบบ 5G มีคุณสมบัติพื้นฐานที่เหนือกว่า 4G ในด้านความเร็ว เครือข่ายเชิงกว้างและเชิงลึก การตอบสนองที่ฉับพลัน การใช้พลังงานที่ตํ่า ความปลอดภัย และความสามารถรองรับอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things)

จีนยังใช้จังหวะโอกาสนี้ต่อ ยอดการพัฒนาธุรกิจอินเตอร์เน็ตและสังคมไร้เงินสดไปยังอุตสาหกรรมที่ต่อยอดอินเตอร์เน็ต (Internet Plus) อาทิ บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ รถยนต์ไร้คนขับ ระบบการจดจำใบหน้า และ IoTs อย่างกว้างขวางอีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า เฉพาะจีนประเทศเดียวก็คาดว่าจะมีการต่อเชื่อมของอุปกรณ์ต่างๆ กว่า 10,000 ล้านจุดในปี 2025

พัฒนาการและแนวโน้มดังกล่าวตอกยํ้าให้เห็นถึงการก้าวกระโดดของโลกดิจิทัล นวัตกรรม และเทคโนโลยีระดับสูง และขยับเข้าใกล้ผู้นำโลกอย่างสหรัฐฯ มากขึ้นทุกขณะ รวมทั้งยังขยายโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องครั้งใหม่ในจีนอย่างแท้จริง

ท่านผู้อ่านอาจไม่เคยได้ยินชื่อธุรกิจเหล่านี้ของจีนเลยเมื่อ 10 ปีก่อนAlibaba, Alipay, Aliyun, Amperex, Ant Financial, Apollo, Baidu, Bingo Box, BOE, Bubi, BYD, Bytedance, Cainiao, Cambricon, Canbot, CloudWalk, Deppon, DiDi, DJI, Ecovacs, Fabu, Face++, GJS Robot, Gree, Haier, HAX, Hema, Hisense, Hive Box, Huawei, iFlytek, iQiyi.com, JD.com. MaiMai. Medlinker, Meituan Dianping, Kuaishou, Lenovo, Luckin Coffee, Megvii, Mobike, NetEast, NIO, OFO, Oppo, Panda Selected, Pinduoduo, Ping An Healthcare, Pony.ai, Qulian, Sangfor, SenseTime, Siasun, Soguo, Taobao.com, TCL, Tencent, TikTok, TMall, UB Tech, UCloud, VIPKid, VIPShop, Vivo, WeBank, WeChat, WeDoctor, WMM,
Xiaohongshu, Xiaomi, Xpeng, Yijiahe, Yuanfudao, Yunji, ZTE, 17zuoye

กิจการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ยืนยันการเติบใหญ่ในโลกดิจิทัลของจีนได้เป็นอย่างดี และจะเติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาด ดิจิทัลจีนสู่ยุคใหม่ในอนาคต

เมื่อมังกรวัดรอยเท้าพญาอินทรีย์  ในสงครามเย็นยุคดิจิทัล (จบ)

 


 

โควิด-19 เติมเชื้อแก่มังกรไฟ

บางคนที่เชื่อในข่าวลือของทฤษฎีสมคบคิดของการแพร่ระบาด ของโควิด-19 ก็อาจมองในชั้นต้นว่า สหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์จากการทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง แต่กลับกลายเป็นว่า จีนได้งัดเอานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคนานัปการอันเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้

เราเห็นการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่และเตียงผู้ป่วยจำนวนมากในเวลาชั่วพริบตา หรือการแปลงสายการผลิตที่มีความยืดหยุ่นสูงของโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ รถยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ มาผลิตหน้ากากและเวชภัณฑ์ที่ขาดแคลนได้อย่างรวดเร็ว

การมีสนามจริงให้ทดสอบและพัฒนาความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่ทันสมัย สังคมดิจิทัลในเมืองใหญ่ของจีนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวดเร็วกว่าที่คาดคิด

ระบบ 5G ที่จีนเริ่มทดลองใช้เมื่อปีก่อนก็ถูกนำมาใช้งานอย่างจริงจังในวงกว้างที่ใหญ่สุดอย่างที่ไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อนในช่วงนี้ อาทิ การเรียนหนังสือทางไกล และการตรวจเชื้อไวรัสและการรักษาพยาบาลทางไกล

Alibaba และ WeChat ก็ยังสร้างคิวอาร์โค้ดต่อต้านไวรัส (Anti-Virus Code) ที่ใช้แสดงผลความเสี่ยงในการติดโควิด-19 ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเวลาไปพื้นที่สาธารณะ โดยสีของคิวอาร์โค้ด เขียว (ผ่าน) - เหลือง (สังเกตการณ์) - แดง (กักบริเวณ) จะเปลี่ยนไปตามระดับความเสี่ยงของพื้นที่การติดเชื้อ ซึ่งปรับเปลี่ยนเชิงลึกระดับห้องและชั้นของอาคารเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังสามารถถามตอบข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเป็นปัจจุบันของโควิด-19 ผ่าน Any Helper ได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังสั่งยกระดับการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงรุกเพื่อลดการสัมผัสธนบัตรและความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัส ทำให้จีนพัฒนาเป็นสังคมไร้เงินสดในวงกว้าง

ตู้จำหน่ายอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานโดยหุ่นยนต์ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงก็ถูกนำมาให้บริการทดแทนร้านอาหารรูปแบบเดิม เพื่อลดระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการสัมผัส ขณะที่ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่เดิมใช้ระบบสแกนจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ดและลายมือ ก็ถูกยกระดับสู่ระบบการสแกนด้วยใบหน้า

ตู้เหล่านี้ยังถูกใช้จำหน่ายเวชภัณฑ์ เช่น หน้ากาก N95 ที่อนุญาตให้แต่ละคนใช้บัตรประชาชนซื้อหน้ากากได้คนละ 2 ชิ้นต่อวันในราคา 12 หยวนหรือกว่า 50 บาทต่อชิ้น โดยเปิดให้บริการทุกวัน 24 ชั่วโมง

นี่อาจเป็นหนึ่งในทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤติการกระจายสินค้าของไทยในอนาคต เพราะเห็นคลิปผู้คนไปยืนต่อคิวซื้อหน้ากากที่กระทรวงต่างๆ ตั้งแต่ยังไม่รุ่งสางจนไม่เป็นอันทำมาหากินแล้วก็อดสงสารพี่น้องคนไทยไม่ได้ ผมไม่กล้าประเมินเลยว่าเศรษฐกิจไทยหายไปกับเวลาที่สูญเปล่าไปมากน้อยขนาดไหน

ขณะเดียวกัน รถยนต์ไร้คนขับก็ถูกใช้เพื่อทำหน้าที่แทนคนในการส่งอาหาร เวชภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น รถยนต์ไร้คนขับหลากรูปแบบถูกออกแบบเพื่อนำไปใช้ทำความสะอาดถนน และพ่นยาฆ่าเชื้อตามอาคารบ้านเรือน

ขณะที่โดรนก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อการส่งของใช้จำเป็นเร่งด่วน และยังเอามาผนวกเข้ากับกล้อง ระบบการจดจำใบหน้า และลำโพง เพื่อสำรวจตรวจสอบความเรียบร้อยในการใช้ชีวิตของผู้คนในแหล่งชุมชน

จากวิกฤติที่หลายคนอกสั่นขวัญแขวนในช่วงตรุษจีน ผ่านไปเพียง 1 เดือน จีนก็เริ่มตั้งหลักได้และกลับกลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว มีอัตราการตายลดลงจาก 4% เหลือไม่ถึง 1% และคาดว่าสถานการณ์จะกลับสภาวะปกติในช่วงสงกรานต์นี้

นอกจากนี้ จีนยังแสดงตนเป็นผู้นำโลกเพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในระดับระหว่างประเทศ ดูเหมือนโควิด-19 จะไม่เพียงแต่ช่วยแปลงร่างให้จีนกลายเป็นมังกรไฟเท่านั้น แต่ยังเติมเชื้อให้มังกรไฟทรงอานุภาพในเวทีโลกยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

การแข่งขันที่ดุเดือดรออยู่

ในช่วงสงครามเย็นยุคใหม่ จีนได้ผ่านเหตุการณ์ท้าทายทางการเมืองและเศรษฐกิจที่แยบยลและกระอัก กระอ่วนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาทในหมู่เกาะทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี การชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง การกล่าวหาว่าหัวเว่ยสอดแนมกิจการภายในของสหรัฐฯ และล่าสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน การเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ดุลยภาพใหม่ของจีนอาจแฝงไว้ซึ่งความหมายเชิงกว้างที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นอดทนในการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จีนได้พัฒนาศักยภาพที่มีอยู่จนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันที่สมนํ้าสมเนื้อของสหรัฐฯ ในสงครามเย็นยุคใหม่

ทั้ง 2 ประเทศมีทรัพยากรและชั้นเชิงที่ทันกัน ต่างฝ่ายต่างกำหนดการพัฒนาด้านดิจิทัลเป็นนโยบายการแข่งขันเชิงยุทธ์ อัตราเร่งของการเติบโตในโลกดิจิทัลของฝ่ายหนึ่งอาจหมายถึงอัตราการชะลอตัวของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้ง 2 ฝ่ายจึงพยายามใช้ทุกวิถีทางในการเดินเกมปิดกั้น โอบล้อม เปิดแนว และพร้อมจะขยับหมากเข้ารุกฆาตอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

ในด้านหนึ่ง เราเห็นการทุ่มเททรัพยากรในการเดินหน้าอภิมหาโปรเจ็กต์เส้นทางสายไหมและสายไหมทางทะเลและการพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงอย่างจริงจังของจีน

ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ ก็เร่งผลักดันสารพัดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคที่พยายามกีดกันการมีส่วนร่วมของจีน และเดินเกมสงครามการค้า

เหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของการขับเคี่ยวกันในระยะแรกเท่านั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ บรรยากาศเดิมๆ ของสงครามเย็นที่เชือดเฉือนกันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันกำลังก่อตัวขึ้นในเวทีโลก

หากพญาอินทรีย์และมังกรไม่สามารถบินร่วมกันได้ในเวทีโลก ก็ดูเหมือนว่าโลกจะต้องเผชิญกับสงครามเย็นยุคดิจิทัลที่แตกต่างและยาวนาน ใครจะอยู่ ใครจะไป อีกไม่นานเราคงได้เห็นกัน...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น   ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวนรถไฟความเร็วสูงของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน