ดันท่าเรือขนส่งสินค้าเชื่อม"อ่าวไทย – อันดามัน”

19 มี.ค. 2563 | 14:16 น.

 

 

 

 

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมแนวทางการพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน (19 มีนาคม 2563) โดยมี นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า นายสมชาย สุมนัสขจรกุล นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า และนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงแนวทางการพัฒนาของกรมเจ้าท่า (จท.) ดังนี้

 

1. แนวทางการพัฒนาในปัจจุบัน

- ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (จท.) อยู่ระหว่างการศึกษาสำรวจออกแบบและศึกษา EHIA แต่เกิดปัญหาความไม่เข้าใจของประชาชนในพื้นพี่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าวของ จท. ประกอบกับโครงการมีความซ้ำซ้อนกับพื้นที่พัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับ ศอ.บต. เพื่อความชัดเจนก่อนดำเนินการต่อไป

- ท่าเรือปัตตานีเพื่อการขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค ได้แก่ ท่าเรือสินค้าชายฝั่งอยู่ระหว่างปรับปรุง และศึกษาเพื่อพัฒนาให้รองรับเรือขนส่งสินค้า 5,000 เดทเวทตัน

2. แนวทางการพัฒนาในอนาคต

- ในปี 2564 - 2566 ได้ขอตั้งงบประมาณวงเงิน 95 ล้านบาท เพื่อศึกษาและออกแบบเพื่อพัฒนาท่าเรือสินค้าและท่าเรือท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร และระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เพื่อเชื่อมโยงอ่าวไทยและอันดามัน สนับสนุนการเชื่อมโยง BIMSTEC (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย) สู่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยมีบทบาทท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ (Rivera)

- สำหรับฝั่งอันดามัน ขอตั้งงบประมาณปี 2564 - 2565 ในวงเงิน 66.5 ล้านบาท เพื่อศึกษาและออกแบบเพื่อพัฒนาท่าเรือสินค้าบริเวณอันดามันตอนล่างจากการยุติโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการศึกษาครอบคลุมพื้นจังหวัดอันดามันตอนล่างทั้ง ได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา ตรัง และสตูล เพื่อเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ต่อไป

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบให้ จท. ศึกษาแนวเส้นทางการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าเพิ่มเติม อาทิ เส้นทางจากประเทศต่าง ๆ ฝั่งตะวันออกที่ผ่านแหลมญวน (เวียดนาม) - ชุมพร/สุราษฎร์ธานี - ระนอง - ศรีลังกา และเส้นทางจากประเทศอื่น ๆ ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีระยะทางใกล้และใช้ระยะเวลาในการเดินทางน้อยกว่าเส้นทางที่อ้อมผ่านประเทศสิงคโปร์ และให้คำนึงถึงประโยชน์จากการดำเนินการศึกษาว่าสามารถทำให้การเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าฝั่งอ่าวไทย - อันดามันประสบความสำเร็จได้ โดยไม่กระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถตอบสนองผู้มาใช้บริการ ซึ่งอาจจะร่วมลงทุนกับเอกชนในการดำเนินการศึกษา นอกจากนี้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมดำเนินการเชื่อมต่อระหว่างทางรางกับท่าเรือต่อไป