ส.อ.ท.เสนอรัฐตั้ง”กองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19” แสนล้านบาท

19 มี.ค. 2563 | 09:05 น.

ส.อ.ท.เสนอรัฐตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 วงเงิน 1 แสนล้านบาท ชี้ใช้วิธีออกพันธบัตร พร้อมดำเนินการผ่านสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องตั้งสำรอง

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า รัฐบาลควรที่จะมีการจัดตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท  เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่เป็นนิติบุคคล  โดยปล่อยกู้ให้รายละประมาณ 20 ล้านบาท  มีระยะเวลาในการผ่อนชำระประมาณ 1 ปี  คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2%ต่อปี และผู้ที่ต้องถูกเลิกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ซึ่งอาจจะต้องมีเงินเดือนให้  โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเข้ารับการฝึกอบรม  เพื่อเพิ่มความรู้  หรือประสิทธภาพในการทำงานประมาณเดือนละ 1-2 หมื่นบาท  หรืออย่างน้อยเดือนละ 1 หมื่นบาท

ส.อ.ท.เสนอรัฐตั้ง”กองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19” แสนล้านบาท

                ทั้งนี้  กองทุนดังกล่าวอาจจะมาจากการที่รัฐบาลออกพันธบัตรขึ้นมา  โดยมองว่าเครดิตของรัฐบาลยังดีอยู่  ซึ่งสามารถดำเนินการได้  ซึ่งวันนี้เป็นการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน  ยังไม่ใช่เป็นการไปยื่นสมุดปกขาว  เนื่องจากเหตุการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา  การติดเชื้อมีความรุนแรงขึ้น  ดังนั้น  โอกาสในการปิดสถานประกอบการจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย  ซึ่งภาครัฐเองนอกจากการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์แล้ว  จะต้องเตรียมตัวเรื่องของการเงิน  หรือสินเชื่อเช่นเดียวกัน  เพื่อให้ผู้ประกอบการ  และประชาชนทั่วไป  โดยคาดว่าหากการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 จนต้องปิดเมือง  อาจจะมีผู้ที่ถูกเลิกจ้างประมาณ 1 ล้านราย

                “การจัดตั้งกองทุนอาจจะตั้งขึ้นมาเป็น 2 กอง  หรือ 1 กองก็ได้  ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่จะสามารถทำได้  โดยรัฐมีความจำเป็นต้องเยียวยาช่วยแหลือเรื่องของสินเชื่อ  วันนี้รัฐบาลมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ  หรือซอฟท์โลน 1.5 แสนล้านบาทออกมา  โดยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้เงินออกไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ย 0.01% จากธนาคารออมสิน  แต่เมื่อถึงเวลาก็ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้  เพราะขาดความเชื่อมั่น  ทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ  ทำได้เพียงการยืดเวลาพักชำระหนี้ให้”

อย่างไรก็ดี  การดำเนินการของกองทุนดังกล่าวจะต้องทำผ่านกลไกลของสถาบันการเงิน  โดยที่สถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องมีการตั้งสำรอง  เพื่อให้เกิดสถาพคล่องสำหรับเอสเอ็มอี  เนื่องจากแม้ว่าจะมีการยืดเวลาการชำระหนี้ให้  แต่ผู้ประกอบการเองยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องของค่าจ้างแรงงาน  และค่าเช่า เป็นต้น  ดังนั้น  จึงต้องมีกองทุนเข้ามาช่วยเหลือ  โดยควรจะดำเนินการออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

                นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสจะถูกกระทบมากที่สุดน่าจะเกี่ยวกับการท่องเที่ยว  และที่เกี่ยวเนื่อง  จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปเป็นจำนวนมาก  ดดยกองทุนดังกล่าวนอกจากอาจจะช่วยให้ไม่ต้องมีการปลดพนักงานแล้ว  ยังสามารถเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมในการปรับปรุง  เปลี่ยนแปลงสถานประกอบการให้ดีขึ้น  เพื่อเตรียมตัวรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย  เพราะต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมการท่องเมี่ยวในยามที่ชะลอตัวก็จะตกลงเร็ว  แต่เวลาที่ฟื้นตัวก็ฟทื้นตัวได้รวดเร็วเช่นเดียวกัน

ส.อ.ท.เสนอรัฐตั้ง”กองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19” แสนล้านบาท

                “เวลานี้ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่เห็นการเลิกจ้างงาน  แต่สิ่งที่เห็นคือการลดต้นทุนจากการลดการทำงานล่วงเวลา  หรือโอที  และการเจรจาเพื่อลดสวัสดิการบางส่วน  หรือลดเงินเดือนบ้างบางส่วนที่สามารถเจรจาได้  โดยหากมีการปิดเมืองก็อาจจะจต้องมีการเจรจาเรื่องการทำงานที่บ้านโดยจ่ายเงินเดือนลดลง  หรือการไม่ต้องทำงานแต่ไม่ถูกเลิกจ้าง  แต่ได้เงินเดือนน้อยกว่าปกติว่าควรจะต้องเป็นอย่างไร  ไม่เช่นนั้นก็ไม่ทราบว่าผู้ประกอบการจากเงินมาจากไหน  หากไม่มีสินเชื่อ”