ติงร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าว ชาวนาเสียเปรียบแนะยำรวม2ก.ม.

20 มี.ค. 2563 | 03:00 น.

ร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าวเสียงแตก“อุบลศักดิ์” ชี้ไม่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาชาวนาไม่ได้ ตั้งคำถามโรงสี ผู้ส่งออกยอมแบ่งหรือไม่ ย้ำทางออกตั้งกระทรวงการข้าว กำหนดชาวนาอายุ 60 ปีต้องมีบำนาญ “ระวี” แนะยำรวมกฎหมายข้าว-แบ่งปันฯ ช่วยชาวนาพ้นจน

 

 

 

ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การแบ่งปันผลประโยชน์ข้าว พ.ศ. ...ที่มี นายอนุทินชาญวีรกูล และคณะเป็นผู้เสนอร่างฯเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นโดยให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภาได้เมื่อตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปนั้น เสียงส่วนใหญ่จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระบุไม่สามารถแก้ปัญหากับชาวนาได้

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม รองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วย และมองว่าเป็นไปไม่ได้ คำถามคือใครจะยอมเสียสละแบ่งปันผลประโยชน์ โดยในส่วนของผู้ส่งออกมีหน้าที่ซื้อข้าวแล้วจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว ส่วนชาวนามีตั้งแต่เช่านา กู้เงินทำนา ต้องเสียดอกเบี้ย มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ ทำแล้วขาดทุน ผู้ส่งออกเคยมาออกค่าใช้จ่ายอะไรหรือไม่ เคยมาลงทุนให้หรือไม่ ส่วนโรงสีก็ทำหน้าที่สีหรือสร้างโรงงานแปรรูปข้าว ทุกฝ่ายต่างคิดแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้นการมีกฎหมายแบ่งปันผลประโยชน์ข้าว ชาวนาจะเสียเปรียบมากที่สุดและจะตกอยู่ในฐานะทาสในเรือนเบี้ย

ติงร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าว ชาวนาเสียเปรียบแนะยำรวม2ก.ม.

                                         อุบลศักดิ์  บัวหลวงงาม

“ยืนยันว่าทางออกที่จะทำให้ชาวนามีฐานะความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะต้องสร้างความยั่งยืนในอาชีพชาวนา เช่น ชาวนาอายุ 60 ปีต้องมีบำนาญ และสวัสดิการ (เงินมาจากค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าว) ขณะที่ภารกิจของกระทรวงการข้าวที่เสนอให้มีการจัดตั้ง เช่น แก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนา บริหารจัดการข้าวครบวงจร ลดช่องว่างของภาคการผลิต แปรรูป และการตลาดให้มีความยั่งยืน สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ผลิต พัฒนาเทคโนโลยีด้านข้าวให้เข้มแข็งและเป็นหนึ่งในโลกในด้านข้าว”

  ทั้งนี้วิบากกรรมชาวนาที่ผ่านมาในอดีต ส่วนหนึ่งเกิดจากมีแต่คนอื่นคิดให้กับชาวนา ชาวนาไม่เคยมีโอกาสคิดหรือทำเองเลย และถูกภาคส่วนอื่นๆ เอาเปรียบมาโดยตลอด

ติงร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าว ชาวนาเสียเปรียบแนะยำรวม2ก.ม.

ติงร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าว ชาวนาเสียเปรียบแนะยำรวม2ก.ม.

                              กิตติศักดิ์  รัตนวราหะ

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตสมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้เสนอร่างพ.ร.บ. ข้าว กล่าวว่า ไม่ว่าเรื่องแบ่งปันหรือว่าประกันรายได้ ได้ผ่านกระบวนการคิดทุกอย่างแล้ว แต่สิ่งที่จะยั่งยืนจริงๆ คือ พ.ร.บ. ข้าวที่เคยเสนอมาแล้ว จะเป็นโมเดลการปลูกข้าวในพื้นที่เหมาะสม ส่วนพื้นที่ใดไม่เหมาะจะส่งเสริมให้ทำอย่างอื่น กฎหมายจะเปิดช่องไว้ให้แหล่งทุนสนับสนุน ปัจจุบันนาในประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 60-70 ล้านไร่ พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกอาจแค่ 50-60% หรือ 20-30 ล้านไร่เท่านั้น พื้นที่ที่เหลือต้องไปส่งเสริมให้ทำอย่างอื่น เพราะหากฝืนทำไปผลสุดท้ายจะมีแต่หนี้

“ผมไม่ได้อวดโอ้ว่ากฎหมายข้าวดี แต่เราทำไมถึงคิดให้มีคณะกรรมการข้าวอยู่ในนั้น โดยจะมีตัวแทนจากเกษตรกรได้มีส่วนร่วม และนำเสนอความเห็นว่าคิดอย่างไร ต้องการอะไร เอาหัวใจของชาวนามาคิดมาทำเอง จึงเกิดร่างกฎหมายข้าว”

ที่ผ่านมาจากประสบการณ์ที่เป็นเกษตรกรมาตลอดชีวิต และในขณะนี้มีตัวแทนชาวนามาหารือเยอะมาก โดยเฉพาะ ส.ว.สายเกษตรต้องการให้ปลุกชีพกฎหมายข้าวขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้ขัดข้องว่ารัฐบาลจากพรรคใดจะนำร่าง พ.ร.บ.ข้าวไปปรับปรุงแก้ไข ยินดีที่จะให้เพื่อนำเสนอใหม่

ติงร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าว ชาวนาเสียเปรียบแนะยำรวม2ก.ม.

                                                      ระวี  รุ่งเรือง

ด้านนายระวี รุ่งเรือง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานชุมชนศูนย์ข้าวภาคตะวันตก กล่าวว่า ได้อ่านร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าวฯ แล้วยังไม่โดนใจทั้งหมด จึงได้มีการพูดคุยกับ นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย พร้อมส่ง พ.ร.บ.ข้าวฯ ประกบคู่กันเพื่อให้มีการปรับแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากในตอนหาเสียงเลือกตั้งทางพรรคภูมิใจไทยมีนโยบายหาเสียงในเรื่องของข้าวตามโมเดลแบ่งปันผลประโยชน์อ้อยและน้ำตาล ซึ่งตนขอให้มีการยำรวมกฎหมาย โดยร่างกฎหมายข้าวได้นำไปให้ที่พรรคฯเรียบร้อยแล้ว

ติงร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าว ชาวนาเสียเปรียบแนะยำรวม2ก.ม.

                                                 อัษฎางค์  สีหาราช

สอดคล้องกับนายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่า ข้าวและชาวนาเป็นองค์กรใหญ่ แต่ยังไม่เคยมีกฎหมายรองรับและมีหลักประกันในอาชีพเหมือนอ้อยและยางพารา ซึ่งข้าวครอบคลุมคนกว่า 4 ล้านครัวเรือน ซึ่งในมุมมองควรจะมีกฎหมายเกี่ยวกับข้าวและชาวนา และกฎหมายนั้นจะต้องเอื้อประโยชน์แก่ทั้ง 3 ฝ่าย คือชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก ไม่ใช่เอื้อผลประโยชน์ให้กับฝ่ายผู้ประกอบการและฝ่ายนายทุนเหมือนที่ผ่านมา

“ผมได้มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่าย คือภาคผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก เห็นความแตกต่างกันมากคือคนที่เกี่ยวข้องกับชาวนาร่ำรวยทุกคน ยกเว้นชาวนา ดังนั้นอย่างน้อยต้องมีกฎหมายคุ้มครองชาวนาเพื่อเป็นหลักประกันในอาชีพ และที่สำคัญต้องให้ตัวแทนชาวนาได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2563