ติงร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าว ชาวนาเสียเปรียบ แนะยำรวม  2  กฎหมาย

18 มี.ค. 2563 | 10:27 น.

 

 

ร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าวเสียงแตก“อุบลศักดิ์” ชี้ไม่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาชาวนาไม่ได้ ตั้งคำถามโรงสี ผู้ส่งออกยอมแบ่งหรือไม่ ย้ำทางออกตั้งกระทรวงการข้าว กำหนดชาวนาอายุ 60 ปีต้องมีบำนาญ “ระวี” แนะยำรวมกฎหมายข้าว-แบ่งปันฯ ช่วยชาวนาพ้นจน

ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การแบ่งปันผลประโยชน์ข้าว พ.ศ. ...ที่มี นายอนุทินชาญวีรกูล และคณะเป็นผู้เสนอร่างฯเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นโดยให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภาได้เมื่อตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปนั้น เสียงส่วนใหญ่จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระบุไม่สามารถแก้ปัญหากับชาวนาได้

ติงร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าว  ชาวนาเสียเปรียบ  แนะยำรวม  2  กฎหมาย

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม รองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วย และมองว่าเป็นไปไม่ได้ คำถามคือใครจะยอมเสียสละแบ่งปันผลประโยชน์ โดยในส่วนของผู้ส่งออกมีหน้าที่ซื้อข้าวแล้วจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว ส่วนชาวนามีตั้งแต่เช่านา กู้เงินทำนา ต้องเสียดอกเบี้ย มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ ทำแล้วขาดทุน ผู้ส่งออกเคยมาออกค่าใช้จ่ายอะไรหรือไม่ เคยมาลงทุนให้หรือไม่ ส่วนโรงสีก็ทำหน้าที่สีหรือสร้างโรงงานแปรรูปข้าว ทุกฝ่ายต่างคิดแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้นการมีกฎหมายแบ่งปันผลประโยชน์ข้าว ชาวนาจะเสียเปรียบมากที่สุดและจะตกอยู่ในฐานะทาสในเรือนเบี้ย

“ยืนยันว่าทางออกที่จะทำให้ชาวนามีฐานะความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะต้องสร้างความยั่งยืนในอาชีพชาวนา เช่น ชาวนาอายุ 60 ปีต้องมีบำนาญ และสวัสดิการ (เงินมาจากค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าว) ขณะที่ภารกิจของกระทรวงการข้าวที่เสนอให้มีการจัดตั้ง เช่น แก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนา บริหารจัดการข้าวครบวงจร ลดช่องว่างของภาคการผลิต แปรรูป และการตลาดให้มีความยั่งยืน สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ผลิต พัฒนาเทคโนโลยีด้านข้าวให้เข้มแข็งและเป็นหนึ่งในโลกในด้านข้าว”

  ทั้งนี้วิบากกรรมชาวนาที่ผ่านมาในอดีต ส่วนหนึ่งเกิดจากมีแต่คนอื่นคิดให้กับชาวนา ชาวนาไม่เคยมีโอกาสคิดหรือทำเองเลย และถูกภาคส่วนอื่นๆ เอาเปรียบมาโดยตลอด

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตสมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้เสนอร่างพ.ร.บ. ข้าว กล่าวว่า ไม่ว่าเรื่องแบ่งปันหรือว่าประกันรายได้ ได้ผ่านกระบวนการคิดทุกอย่างแล้ว แต่สิ่งที่จะยั่งยืนจริงๆ คือ พ.ร.บ. ข้าวที่เคยเสนอมาแล้ว จะเป็นโมเดลการปลูกข้าวในพื้นที่เหมาะสม ส่วนพื้นที่ใดไม่เหมาะจะส่งเสริมให้ทำอย่างอื่น กฎหมายจะเปิดช่องไว้ให้แหล่งทุนสนับสนุน ปัจจุบันนาในประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 60-70 ล้านไร่ พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกอาจแค่ 50-60% หรือ 20-30 ล้านไร่เท่านั้น พื้นที่ที่เหลือต้องไปส่งเสริมให้ทำอย่างอื่น เพราะหากฝืนทำไปผลสุดท้ายจะมีแต่หนี้

“ผมไม่ได้อวดโอ้ว่ากฎหมายข้าวดี แต่เราทำไมถึงคิดให้มีคณะกรรมการข้าวอยู่ในนั้น โดยจะมีตัวแทนจากเกษตรกรได้มีส่วนร่วม และนำเสนอความเห็นว่าคิดอย่างไร ต้องการอะไร เอาหัวใจของชาวนามาคิดมาทำเอง จึงเกิดร่างกฎหมายข้าว”

ที่ผ่านมาจากประสบการณ์ที่เป็นเกษตรกรมาตลอดชีวิต และในขณะนี้มีตัวแทนชาวนามาหารือเยอะมาก โดยเฉพาะ ส.ว.สายเกษตรต้องการให้ปลุกชีพกฎหมายข้าวขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้ขัดข้องว่ารัฐบาลจากพรรคใดจะนำร่าง พ.ร.บ.ข้าวไปปรับปรุงแก้ไข ยินดีที่จะให้เพื่อนำเสนอใหม่

ด้านนายระวี รุ่งเรือง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานชุมชนศูนย์ข้าวภาคตะวันตก กล่าวว่า ได้อ่านร่าง พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ข้าวฯ แล้วยังไม่โดนใจทั้งหมด จึงได้มีการพูดคุยกับ นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย พร้อมส่ง พ.ร.บ.ข้าวฯ ประกบคู่กันเพื่อให้มีการปรับแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากในตอนหาเสียงเลือกตั้งทางพรรคภูมิใจไทยมีนโยบายหาเสียงในเรื่องของข้าวตามโมเดลแบ่งปันผลประโยชน์อ้อยและน้ำตาล ซึ่งตนขอให้มีการยำรวมกฎหมาย โดยร่างกฎหมายข้าวได้นำไปให้ที่พรรคฯเรียบร้อยแล้ว

สอดคล้องกับนายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่า ข้าวและชาวนาเป็นองค์กรใหญ่ แต่ยังไม่เคยมีกฎหมายรองรับและมีหลักประกันในอาชีพเหมือนอ้อยและยางพารา ซึ่งข้าวครอบคลุมคนกว่า 4 ล้านครัวเรือน ซึ่งในมุมมองควรจะมีกฎหมายเกี่ยวกับข้าวและชาวนา และกฎหมายนั้นจะต้องเอื้อประโยชน์แก่ทั้ง 3 ฝ่าย คือชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก ไม่ใช่เอื้อผลประโยชน์ให้กับฝ่ายผู้ประกอบการและฝ่ายนายทุนเหมือนที่ผ่านมา

“ผมได้มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่าย คือภาคผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก เห็นความแตกต่างกันมากคือคนที่เกี่ยวข้องกับชาวนาร่ำรวยทุกคน ยกเว้นชาวนา ดังนั้นอย่างน้อยต้องมีกฎหมายคุ้มครองชาวนาเพื่อเป็นหลักประกันในอาชีพ และที่สำคัญต้องให้ตัวแทนชาวนาได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2563