เลื่อน! เปิดให้บริการสายสีแดง”บางซื่อ-รังสิต”

18 มี.ค. 2563 | 07:17 น.

ร.ฟ.ท.เผยโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ล่าช้า เตรียมชงบอร์ด ร.ฟ.ท.ไฟเขียวแนวทางบริหารช่วงสถานีกลางบางซื่อ เชื่อได้เอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เดือน มิ.ย.63 พร้อมเดินหน้าสร้างสถานีรถไฟชั่วคราว ระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 300 ล้านบาท

 

 

 

รฟท.เผยโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ล่าช้า เตรียมชงบอร์ด ร.ฟ.ท.ไฟเขียวแนวทางบริหารช่วงสถานีกลางบางซื่อ เชื่อได้เอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เดือน มิ.ย.63 พร้อมเดินหน้าสร้างสถานีรถไฟชั่วคราว ระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 300 ล้านบาท

 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า  โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต  ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมแนวทางการบริหารช่วงสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดร.ฟ.ท.) ในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.63) ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.เตรียมการจัดตั้ง บริษัทเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะขออนุมัติเงินกู้ 3,000 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทฯ และจัดสรรบุคลากร ในช่วงแรก 773 อัตรา โดยมาจากการโอนย้ายพนักงานจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พนักงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ส่วนทางเลือกในการบริหารสถานี รฟท. มีแนวทางเลือกอยู่หลากหลายแนวทาง เช่น รฟท. ดำเนินการบริหารงานสถานีด้วยตนเองทั้งหมด จัดตั้งบริษัทลูกให้ดำเนินการแทน เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน จัดจ้างเอกชนเข้ามาบริหาร หรือให้สิทธิ์เอกชนเป็นผู้ดำเนินการและจ่ายผลตอบแทน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกที่สอดคล้องและเหมาะสมที่สุด

 

สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 64 จากเดิมที่จะเปิดให้บริการภายในเดือน ม.ค.64 โดยคาดการณ์ผู้โดยสารที่ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อในปี 64 จำนวน 208,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และเพิ่มเป็น 396,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน ในปี 75 ขณะเดียวกันคาดว่าจะได้เอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวภายในเดือน มิ.ย.นี้ ส่งผลให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 เลื่อน! เปิดให้บริการสายสีแดง”บางซื่อ-รังสิต”

หลังจากโครงการรถไฟสายสีแดงเปิดให้บริการ จะมีขบวนรถไฟฟ้า ราว 30-40 ขบวน จากปัจจุบันได้รับขบวนรถไฟแล้ว 5 ขบวน ถือว่าล่าช้า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมรสุมจากประเทศญี่ปุ่น  ส่งผลให้การนำส่งขบวนรถช้าออกไปด้วย  แต่ทางเอกชนเชื่อว่าจะส่งมอบรถไฟได้ทันครบทั้ง  130  ขบวน ในช่วง มิ.ย.63 ขณะที่ชั้นใต้ดินเป็นบริเวณที่จอดรถ ราว 1,600  คัน เบื้องต้นอัตราค่าโดยสารอยู่ที่  15-50  บาท

 

นายวรวุฒิ  กล่าวต่อว่า  ทางร.ฟ.ท. มีแผนสร้างสถานีรถไฟชั่วคราวบริเวณสถานีบางซื่อชั้นล่าง ในปัจจุบัน ระยะเวลา  5  ปี วงเงิน  300 ล้านบาท ซึ่งใช้รถไฟดีเซลแทนระหว่างการก่อสร้างบริเวณสถานีกลางบางซื่อและการก่อสร้างระบบรถไฟที่ยังไม่เสร็จสิ้น  โดยรถไฟดังกล่าวที่นำมาใช้นั้นไม่สามารถให้บริการบริเวณสถานีกลางบางซื่อ ชั้นที่ 2 ได้ เนื่องจากมีควันรถค่อนข้างมาก หากแผนดำเนินการแล้วเสร็จ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดร.ฟ.ท.) พิจารณาเห็นชอบ  เบื้องต้นจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ไม่เกิน 1 ปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 65 

 

 เลื่อน! เปิดให้บริการสายสีแดง”บางซื่อ-รังสิต”

ขณะเดียวกันสถานีกลางบางซื่อเป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เพื่อทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานีรถไฟต้นทางของรถไฟวิ่งทางไกล รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง และยังเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งสายสีแดงเข้มและสีแดงอ่อน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย และยังเป็นสถานีรถไฟใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ ปี 56 พร้อมเปิดใช้งานในปี 64 สถานีมีความยาว 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตารางเมตร อาคารมีทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.00 เมตร ประกอบด้วยรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร ประกอบด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา

 

สำหรับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างโครงการแต่ละสัญญามีความก้าวหน้า ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ และสถานีจตุจักร ทางรถไฟยกระดับ จาก กม.6+000 ถึง กม.12+201.700 ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ย่านจอดรถไฟ และอาคารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเดินรถ ตลอดจนถนน สะพานยกระดับเข้า-ออกสถานี และระบบระบายน้ำ ซึ่งมีความคืบหน้าคิดเป็น 98.62 %  ขณะที่สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย สถานี 8 สถานี ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน ถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว และ สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้าของงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จคิดเป็น 73.53% 

 

นอกจากนี้สถานีกลางบางซื่อ(Grand Station) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการก่อสร้างถึง 98 %  โดยภายในสถานี ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถที่รองรับได้ถึง 1,624 คัน ชั้น 1 มีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว ร้านค้า ศูนย์อาหาร โถงพักคอยและจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้นลอย มีพื้นที่รวม 12,020 ตร.ม. เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และห้องควบคุม ชั้นที่ 2 มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา ชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟความเร็วสูง 12 ชานชาลา นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่มีพื้นที่ 186,030 ตร.ม. มีบึงน้ำขนาด 14,000 ตร.ม. โดยเป็นลานน้ำพุประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย