รัฐบาลจี้ขยับโรดแมป EV 5 ปีแจ้งเกิดสู้เวียดนาม-อินโดฯ

20 มี.ค. 2563 | 07:30 น.

รัฐบาลเล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย พร้อมขยับเป้าหมายเป็นฮับ “อีวี” ให้เร็วขึ้นเป็น 5 ปี หวังแข่งกับอินโดนีเซีย เวียดนาม ส่วนทางค่ายรถยนต์รายใหญ่ฟันธง ฝันนี้ยังเกิดยาก

ตามที่รัฐบาลประกาศตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อการกำหนดนโยบาย และติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาห กรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายให้ปี 2573 สามารถผลิตรถ xEV (ไฮบริด,ปลั๊ก-อินไฮบริด,อีวี) ได้เป็นสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคันต่อปี

งานนี้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงคมนาคม ให้พิจารณาและดำเนินการ โดยที่ประชุมนัดแรกคณะทำงานได้เสนอแผนต่อบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนและขยายให้ครอบคลุมการผลิตยานยนต์ทุกประเภท

การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จะส่งเสริมยานยนต์สะอาด, พัฒนารูปแบบการให้บริการเพื่อรับกับยานยนต์สมัยใหม่, แผนส่งเสริมมาตรฐาน และศูนย์ทดสอบสมรรถนะความปลอดภัยของรถอีวีและแบตเตอรี, มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ICE ที่จะปรับไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่,การบริหารจัดการซากรถและแบตเตอรี่ใช้แล้ว, แผนส่งเสริมการใช้รถที่ปล่อยมลพิษตํ่า อาทิ การต่อทะเบียนรถเก่า และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ซีโร อีมิสชัน แอนด์แชริ่ง โมบิลิตี

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมดนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานในการประชุมบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1-1/2563 สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปหารือใหม่ พร้อมขยับเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใน 5 ปี หรือเร็วกว่าโรดแมป 10 ปีที่วางไว้

รัฐบาลจี้ขยับโรดแมป EV 5 ปีแจ้งเกิดสู้เวียดนาม-อินโดฯ

“การจะขับเคลื่อนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า เราต้องเป็นธรรมกับค่ายรถทุกค่ายที่ลงทุนตั้งฐานผลิตในบ้านเรา ส่วนจะเกิดได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ ดังนั้นการส่งเสริมให้ผลิตแบตเตอรี่ถือว่าสำคัญ ตอนนี้ก็ฝากให้บีโอไอไปพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมไปดูว่าอะไรจะจูงใจ รวมถึงไปดูข้อจำกัดของแต่ละค่ายว่ามีอะไร”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมให้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในช่วงเริ่มต้น ควรเริ่มจากรถสาธารณะ, วินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มลูกค้าที่มีฐานะ ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม​ - พลังงาน - คมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องไปดูปัญหา​หรืออุปสรรค​ก่อนแล้วค่อยนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบาย

“เป้าหมายที่วางไว้จะขับเคลื่อนโดยรถ PHEV, BEV ต้องดูว่าจะมีสิทธิประโยชน์ใดที่ให้เพิ่มเติม ต่อมาคือเรื่องแบตเตอรี่จะส่งเสริมอย่างไร จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 8 +5ปีหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจ และการทำลายแบตเตอรี่จะทำอย่างไรบ้าง ส่วนอุปสรรคปัญหาของรถราชการที่ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้เพราะมีราคาสูงกว่าราคากลางที่ตั้ง ก็ต้องไปพูดคุยกันแล้วนำเรื่องเข้าครม.ต่อไป”

นายธนวัฒน์ คุ้มสิน รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า ในช่วง 1 - 2 ปีนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม มีแผนด้านยานยนต์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยอินโดนีเซียจะได้เปรียบด้านความพร้อมของประชากร และแร่ที่ผลิตแบตเตอรี่ ส่วนเวียดนามก็เช่นเดียวกัน โดยมีประชากรเป็นจำนวนมาก และเร็วๆนี้จะมีรถยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นไพลอตโปรเจ็กต์เปิดตัวออกมาในเดือนสิงหาคม ขณะที่มาเลเซียนั้น พยายามชูจุดเด่นเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบรถยนต์ อาทิ ทดสอบการชน ซึ่งในส่วนนี้ประเทศไทยโดยสถาบันยานยนต์ก็ได้เดินหน้าก่อสร้างสนามทดสอบ และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิต​รถยนต์​รายใหญ่ เปิดเผยว่า เป้าหมาย 5 ปี สำหรับ​การเป็นฮับยานยนต์​ไฟฟ้าถือว่าเร็วไป เพราะปัจจุบัน​ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง​พื้นฐาน​ หากให้ผลิตรถยนต์​ออกมาแล้วต้องไปชาร์จไฟที่จุดไหน ราคาค่าไฟยังไม่สรุป ราคาแบตเตอรี่​ก็ยังสูงส่งผลให้ราคารถแพงตามไปด้วย ดังนั้นในฐานะผู้ผลิตมองว่าตามเป้าหมายที่รัฐเคยประกาศไว้ใน 10 ปี หรือ ปี 2579 ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันข้อเสนอเกี่ยวกับรถเก่าอายุ 10 ปี แลกรถใหม่ถือว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ต้องไม่จำกัดว่าจะเป็นรถประเภทไหน ควรจะครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทจะดีกว่า ถือเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้า

“ผู้ผลิตรถยนต์ก็อยากจะรับนโยบายที่รัฐบาลว่ามา แต่ต้องดูว่าจะขับเคลื่อน​อย่างไรหรือดูแบ็กกราวด์​ของประเทศนั้นๆ ประกอบด้วย ยกตัวอย่าง นอร์เวย์ ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าและยกเลิกรถนํ้ามัน เพราะประเทศเขาเล็ก ประชากรน้อย มีการใช้พลังงานส่วนใหญ่จาก ลม แสงแดด ไม่ได้ใช้ถ่านหิน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนก็จะรวดเร็ว หรืออย่างที่จีนมีปัญหาเรื่องฝุ่น มลพิษ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการ​และให้การสนับสนุนผู้ที่ผลิตหรือผู้ที่ซื้อ จนทำให้รถมีราคาจับต้องได้” แหล่งข่าวกล่าว

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2563